ASTVผู้จัดการออนไลน์ - มาเลเซียเซ็นซื้ออาวุธหลายชนิดจากรัสเซียในสัปดาห์นี้ รวมทั้งอาวุธปล่อยนำวิถีอากาศสู่อากาศจากรัสเซียมูลค่า 35 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ในเครื่องบินรบของกองทัพอากาศที่ซื้อจากรัสเซียในช่วงหลายปีมานี้ กับจวสดต้อสู้รถถัง และอาวุธเบาสำหรับกองทัพบก รวมมูลค่าหลายสิบล้านดอลลาร์
จนถึงปัจจุบัน มาเลเซียซื้อเครื่องบินรบจากรัสเซียทั้งหมด 34 ลำ เป็น MiG-29 “ฟัลครัม” จำนวน 16 ลำ ซึ่งประจำการมาตั้งแต่ปี 2537 ปัจจุบัน มีเพียง 10 ลำที่ยังใช้การ กับ Su-30MKM “แฟล็งเคอร์” อีก 18 ลำ ซึ่งรัสเซียส่งมอบจนครบฝูง ตั้งแต่กลางปี 2552 และอยู่ระหว่างเจรจาซื้ออีก 18 ลำ
การเซ็นข้อตกลงดังกล่าวมีขึ้นในวันพฤหัสบดี 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ในงาน Defense Services Asia-2012 ซึ่งเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่กำลังดำเนินอยู่ในมาเลเซียขณะนี้ สำนักข่าวโนวอสติ (RIA Novosti) ของรัสเซียรายงาน
ฝ่ายรัสเซียจะส่งมอบอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานอากาศสู่อากาศให้มาเลเซียล็อตแรกในสิ้นปี 2555 นี้ นายนิโคไล ดิมิยุค (Nikolai Dimidyuk) ผู้อำนวยการบริษัทรอสโซโบรอเน็กซ์พอร์ต (Rosoboronexpot) ซึ่งเป็นบริษัทค้า และส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ภายใต้กระทรวงกลาโหมของรัสเซียรายงานเรื่องนี้ในคำแถลงฉบับหนึ่งที่ออกในกรุงมอสโกวันเดียวกัน
หนังสือพิมพ์ซันเดย์เดลี่ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์รายงานในขณะเดียวกันว่า อวป.นำวิถีต่อสู้อากาศยานที่เซ็นซื้อมีจำนวน 35 ชุด ทั้งหมดเป็นแบบ RVV-AE หรือ AA-12 “แอ็ดเดอร์” หรือที่รูกจักกันดีกว่าในชื่อ R-77 ซึ่งเป็นจรวดพิสัยกลาง เทียบเท่ากับ อวป.นำวิถีแบบ AIM-120 หรือ “อัมราม” (AMRAAM) ของสหรัฐฯ
สัญญาอีก 4 ฉบับ รวมมูลค่า 250.8 ล้านริงกิต (81.75 ล้านดอลลาร์) เป็นการซื้อกระสุนปืน เครื่องยิงลูกระเบิดอาร์พีจี อาวุธติดรถถังขนาดเบา และเครื่องยิงลูกระเบิดควันเพื่อใช้ในกองทัพบก “ซันเดย์เดลี” กล่าว
.
.
นอกจากเครื่องบินรัสเซียแล้ว มาเลเซียยังมีเครื่องบินรบที่ผลิตโดยสหรัฐฯ คือ F/A18D “ฮอร์เน็ต” จำนวน 8 ลำ ส่วน F-5 รวม 18 ลำ เป็น F-5E จำนวน 16 ลำ และ RF-5 อีก 2 ลำ ปลดประจำการแล้ว
Su-30MKM เป็นเครื่องบินขับไล่ และโจมตีอเนกประสงค์อีกเวอร์ชันหนึ่งที่รัสเซียผลิตให้ตามความต้องการเฉพาะของมาเลเซีย เช่นเดียวกันกับ Su-30MKI ที่ผลิตให้กองทัพอากาศอินเดีย และ SU-30MK2V ที่เวียดนามเน้นการใช้ในสงครามทางทะเล
รัฐมนตรีกลาโหมมาเลเซีย ดาโต๊ะเสรี ดร.อาห์หมัดซาฮิดฮามิดิ (Datuk Seri Dr Ahmad Zahid Hamidi) ซึ่งเป็นสักขีพยานการเซ็นสัญญากล่าวว่า งบประมาณซื้ออาวุธปีนี้ลดลง เนื่องจากรัฐบาลกำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น แต่อาวุธที่จัดซื้อทั้งหมดจะทำให้กองทัพมาเลเซียทันสมัย และเป็นทรัพย์สินอันล้ำค่าของประเทศ
โนวอสติซึ่งเป็นสำนักข่าวของทางการรัสเซีย รายงานด้วยว่า ระหว่างนิทรรศการอาวุธยุทโธปกรณ์ครั้งนี้ มาเลเซียได้เจรจาซื้ออาวุธอีกหลายรายการสำหรับกองทัพบก รวมทั้งจรวดต่อสู้รถถังแบบคอร์เน็ต (Kornet) กับ อวป.ต่อสู้อากาศยานนำวิถีพื้นสู่อากาศชนิดประทับไหล่ยิง แบบอิกลา (Igla) ด้วย
มาเลเซียยังให้ความสนใจซื้อเรือเร็วติด อวป.นำวิถีชั้นโมลินยา (Molniya) กับเรือเร็วตรวจการณ์ชั้นมิราซ (Mirazh) โดยพ่วงเจรจาซื้อขายกับการนำไปผลิตในประเทศเข้าด้วยกัน
.
.
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานความคืบหน้าใดๆ เกี่ยวกับการเจรจาซื้อ "จรวด" นำวิถียิงรถถัง กับต่อสู้อากาศยานแบบพื้นสู่พื้น กับเรือทั้งสองรุ่น ซึ่งปัจจุบัน เวียดนามเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับสิทธิบัตรผลิตเพื่อใช้ในประเทศ
หนังสือพิมพ์ซันเดย์เดลียังรายงานด้วยว่า วันพฤหัสบดี 19 เม.ย.เช่นกัน บริษัท Composites Technology Research Malaysia Sdn Bhd ได้เซ็นสัญญากับเพื่อจำหน่ายอากาศยานแบบไม่ใช้คนควบคุม หรือ UAV (Unmanned Aerial Vehicle System) จากสถาบัน Insitu Pacific Pty Ltd (ในรัฐควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย)
สัญญาซื้ออากาศยานดังกล่าวมีมูลค่า 5 ล้านริงกิต เป็น UAV ที่ติดอุปกรณ์สแกนพื้นที่เบื้องล่าง เพื่อนำไปใช้ในการบินสำรวจชายแดนและน่านน้ำรัฐซาบาห์ ซันเดย์เดลีกล่าว
มาเลเซียเป็นอีกชาติหนึ่งที่กล่าวอ้างสิทธิเหนือดินแดนบางส่วนในหมู่เกาะสแปร็ตลีย์ ส่วนที่อยู่ใกล้ชายฝั่งรัฐซาบาห์ ในขณะที่เวียดนาม และจีนกล่าวอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะนี้ทั้งหมด และ ฟิลิปปินส์ บรูไน กับจีนไต้หวัน กล่าวอ้างเป็นบางส่วน
อย่างไรก็ตาม จีนได้ประกาศครอบครองพื้นที่ราว 80% ของทะเลจีนใต้ตามแผนที่รูปตัวยูที่ประกาศใช้เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งครอบคลุมหมู่เกาะสแปร็ตลีย์ทั้งหมด และทำให้กรณีพิพาทในทะเลสากลแห่งนี้ซับซ้อนยิ่งขึ้น.