ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เพิ่งจะมีการเปิดเผยกันในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จรวดต่อสู้อากาศยานที่มาเลเซียเซ็นสัญญาซื้อจากรัสเซียเมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อติดในเครื่องบิน มิก-29 (MiG-29) กับ ซู-30 (Su-30) นั้นเป็นแบบ “วีมเพล” (Vympel) หรือ RVV AE (R-77) ซึ่งเป็นขีปนาวุธพิสัยกลางแบบอากาศสู่อากาศที่น่าเกรงขามที่สุดอีกรุ่นหนึ่งในโลกปัจจุบัน และด้วยระบบเรดาร์ที่ทันสมัย จรวดนำวิถีรุ่นนี้มีรัศมียิงทำลายเป้าหมายที่อยู่ไกลออกไปเกือบ 100 กิโลเมตร
สัญญาซื้อขายมูลค่า 35 ล้านดอลลาร์ที่เซ็นกันระหว่างงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จัดขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ในสัปดาห์ปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้มาเลเซียเป็นเพียงประเทศที่สามในย่านนี้ ที่มีจรวดต่อสู้อากาศยานคุณภาพสูงของรัสเซียประจำการ ถัดจากอินเดียกับเวียดนาม สำนักข่าวกลาโหม “อาวุธ” (Weapon) รายงาน โดยอ้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ
เมื่อบวกกับระบบเรดาร์ที่ทันสมัยล้ำหน้าของรัสเซียแล้ว R-77 กลายเป็นขีปนาวุธที่มีขีดความสามารถในการทำลายเป้าหมายสูงกว่าอาวุธประเภทเดียวกันรุ่นอื่นๆ ที่ประจำการอยู่ในย่านนี้ รวมทั้ง AMM AMRAM เวอร์ชันที่สหรัฐฯ ขายให้ประเทศพันธมิตรด้วย สำนักข่าวแห่งเดียวกันกล่าว
จรวดวีมเพลมีระบบต่อต้านการรบกวนของเรดาร์ และการรบกวนด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ของฝ่ายตางข้ามที่มีประสิทธิภาพสูง มีความยาว 3.6 เมตร วัดรอบได้ 200 มม. น้ำหนัก 175 กก. ใช้เชื้อเพลิงแข็งขับดัน บรรจุหัวรบประสิทธิภาพสูงน้ำหนัก 22 กก. สามารถทำลายเป้าหมายได้กว่า 70% สำนักข่าวแห่งเดียวกันกล่าว
รัสเซียผลิตจรวดนำวิถีด้วยเรดาร์ชนิดนี้ให้มีประสิทธิภาพในการทำลายวัตถุทุกชนิดที่บินอยู่ในอากาศ พุ่งเข้าสู่เป้าหมายด้วยความเร็วกว่า 4 เท่าเสียง หรือความเร็วสูงสุด 4,600 กม./ชม. ทำลายเป้าหมายในระยะตั้งแต่ 200 เมตร จนถึง 25 กม. รวมทั้งเป้าหมายที่อยู่สูงจากพื้นขึ้นไป 80-90 กม. ในชั้นบรรยากาศ
จรวดต่อสู้อากาศยาน R-77 ผลิตเพื่อใช้ติดเครื่องบินรบได้หลากหลายรุ่น ตั้งแต่เครื่องบินรบยุคที่ 5 คือ T-50 (PAK FA) ซึ่งกองทัพอากาศรัสเซียจะนำเข้าประจำการก่อนสิ้นทศวรรษนี้ มิก-29 มิก-31 มิก-35 ซู-27/30 กระทั่งมิก-21 “ไบซัน” (Bison) รุ่นเก่าที่ดัดแปลงรางติดตั้งใต้ปีก
สำนักข่าวกลาโหมแห่งนี้กล่าวว่า รัสเซียกำลังวิจัยเพื่อผลิตอีกรุ่นหนึ่งออกมาภายใต้รหัส R-77M1 โดยใช้เครื่องยนต์ไอพ่นแบบเจ็ตแรมขับเคลื่อน เพิ่มขีดความสามารถให้แก่จรวดรุ่นนี้ รวมทั้งขยายระยะแม่นยำออกไปไกลถึง 175 กม. และรัสเซียมีนโยบายจะขายให้แก่ประเทศพันธมิตร และลูกค้าที่ใช้เครื่องบินรบค่ายรัสเซียอยู่ในขณะนี้
ปัจจุบัน กองทัพอากาศมาเลเซียมีเครื่องบิน Su-30MKM “แฟล็งเคอร์” (Flanker) จำนวน 18 ลำ ทั้งหมดประจำอยู่ที่ฐานทัพอากาศรัฐกลันตันทางตอนเหนือของประเทศ และมีแผนการจะซื้อรุ่นเดียวกันนี้อีก 18 ลำ นอกจากนั้น ยังมิก-29 “ฟัลครัมส์” (Fulcrums) จำนวน 18 ลำ ทั้งหมดเป็นรุ่น N ที่ใช้งานมานานกว่า 20 ปี ปัจจุบัน เหลือใช้การอยู่เพียง 10 ลำ
ในคราวเดียวกันนี้ มาเลเซียยังเซ็นซื้อเครื่องยิงระเบิดอาร์พีจีกับเครื่องกระสุนจากรัสเซียอีกจำนวนมาก และยังแสดงความประสงค์จะขอซื้อจรวดต่อสู้ทำลายรถถังอันทันสมัย และขอซื้อเรือเร็วติดปืนรุ่นหนึ่ง พ่วงกับสิทธิบัตรเพื่อผลิตใช้เองในประเทศอีกด้วย