รอยเตอร์ - นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ และนางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านพม่า ต่างเห็นพ้องกันในวันนี้ (13 เม.ย.) ที่จะระงับมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าชั่วคราว และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ อาจส่งผลให้เกิดการหลั่งไหลของการลงทุนในพม่าที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากร
นายคาเมรอน ที่เป็นผู้นำจากชาติตะวันตกรายแรกที่เดินทางเยือนพม่าในรอบหลายทศวรรษ และนางอองซานซูจี กล่าวในการแถลงร่วมกันในนครย่างกุ้งว่า มาตรการคว่ำบาตรควรถูกระงับชั่วคราว แต่ยังไม่ยกเลิกอย่างสิ้นเชิง เพื่อกดดันให้รัฐบาลพลเรือนดำเนินการปฏิรูปต่อไป
“ผมคิดว่าเวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะระงับการคว่ำบาตรมากกว่าที่จะยกเลิกทั้งหมด ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถนำพาพวกเขากลับเข้าที่เข้าทางได้” นายคาเมรอน กล่าว
ความคิดเห็นของนายคาเมรอน ที่เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนแรกที่เดินทางเยือนพม่านับตั้งแต่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2491 มีขึ้นล่วงหน้า 10 วัน ก่อนที่สหภาพยุโรปจะประชุมประจำปีทบทวนมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่า ในกรุงบรัสเซลส์
นายคาเมรอนกล่าวว่า เขาจะผลักดันให้มาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปทั้งหมดถูกยกเลิกในการประชุม แต่ยังคงมาตรการคว่ำบาตรเกี่ยวกับการค้าขายอาวุธไว้เช่นเดิม
มาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปที่เข้มงวดน้อยกว่ามาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ประกอบด้วย การอายัดทรัพย์สิน การห้ามค้าอาวุธ และการลงทุน หรือค้าขายที่เกี่ยวข้องกับไม้ซุง หรือเหมืองแร่เหล็ก และอัญมณี แต่มาตรการคว่ำบาตรไม่ได้ห้ามการลงทุนในภาคส่วนอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดที่มียังคงปฏิเสธที่จะให้พม่าเข้าถึงสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ที่ให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่ประเทศยากจน
ในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ นายคาเมรอนได้หารือกับประธานาธิบดีเต็งเส่ง โดยได้กล่าวกระตุ้นต่อประธานาธิบดีเต็งเส่งถึงการปล่อยนักโทษการเมืองที่ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ทั้งหมด การสร้างสันติภาพกับกบฎชนกลุ่มน้อย และโน้มน้าวให้ผู้ที่ยึดมั่นในหลักการในคณะรัฐบาล และพรรค USDP ของประธานาธิบดีเต็งเส่งว่าการปฏิรูปนั้นเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับประเทศที่จะก้าวไปข้างหน้า.