xs
xsm
sm
md
lg

ปลานกแก้วปากบานใกล้หมด เวียดนามเพาะพันธุ์คืนธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<bR><FONT color=#000033>หน้าตาดูไม่คุ้ยเคย แต่ละม้ายคล้ายกับญาติๆ ที่อาศัยในน้ำเค็มแต่ต่างวงศ์กัน ปลานกแก้วปากบาน หรือ แองหวู  (Anh Vũ cá) เนื้อนุ่มนิ่มมีก้างน้อย เป็นอาหารทรงโปรดของพระราชามาทุกยุคสมัย คนทั่วไปก็เชื่อว่ากินเข้าไปแล้วมีแต่จะร่ำรวย ปลาหน้าตาประหลาดพันธุ์นี้จึงค่อยๆ หายไปจากแหล่งน้ำที่อาศัยตามธรรมชาติใน จ.ฟุเถาะ (Phú Thọ) กับ จ.ถายงเวียน (Thái Nguyên) ทางภาคเหนือ เวียดนามประกาศให้ปลาชนิดนี้เป็นสัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์บรรจุใน บัญชีแดง มาตั้งแต่ปี 2535 ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์กำลังหาทางนำพวกมันกลับคืนสู่ถิ่นเดิม. -- ภาพ: Tuoi Tre.</b>

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ถึงแม้จะเรียกกันทั่วไปว่า “ปลานกแก้ว” แบบเดียวกับญาติๆ ในทะเลลึก แต่ปลาชนิดนี้ก็มีชื่อเฉพาะของมันเอง และอาศัยในแหล่งน้ำเพียง 2 แห่งในประเทศ การเพาะพันธุ์คืนสู่ธรรมชาติเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมันไม่สามารถเติบโตได้ในน้ำที่ปนเปื้อน แต่นักวิทยาศาสตร์ในเวียดนามก็ไม่ละความพยายาม

ปลาแองหวู (Anh Vũ cá) เป็นปลาแห่งตำนาน แต่หลายคนไม่เคยมีโอกาสได้เห็นตัวเป็นๆ ของมัน หลายทศวรรษก่อนเคยมีชุกชุมใน จ.ฟุเถาะ (Phú Thọ) กับ จ.ถายงเวียน (Thái Nguyên) เป็นอาหารโปรดของพระจักรพรรดิทุ ด้วยเหตุที่เชื่อกันว่า กินปลาแองหวูแล้วจะร่ำรวย จึงทำให้พวกมันเกือบหมดไปจากโลก

แต่ปลานกแก้วปากบานเริ่มกลับคืนสู่ลำน้ำในภาคเหนืออย่างเงียบๆ หลังจากนักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีผสมเทียม แต่จำนวนก็ยังไม่มากพอ นักวิทยาศาสตร์ก็จึงเพาะนอกแหล่งน้ำธรรมชาติไปด้วย ปัจจุบัน มีเกษตรกรจำนวนหนึ่งเข้าร่วมโครงการนี้ เลี้ยงให้โตก่อนนำส่งขายร้านอาหารชั้นนำ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงร้านเดียวที่เสิร์ฟเมนูแพงนี้

ปลาแองหวูอาศัยอยู่ในโพรงไม้ หรือขอนไม้ใต้น้ำลึก จึงยากที่จะจับมันขึ้นมาได้ด้วยอุปกรณ์หาปลาทั่วไป มันเคยมีชุกชุมในลำน้ำแบ๊กหัก (Bach Hac) อ.เวียดจี๊ (Viet Tri) ซึ่งเป็นเมืองเอกของ จ.ฟุเถาะ ต่อมา ฝูงปลาเริ่มอพยพไปสู่ลำน้ำนาหั่ง (Na Hang) ในท้องที่ จ.ถายงเวียน ที่อยู่ติดกัน

เมื่อน้ำเริ่มขุ่นข้นในฤดูน้ำหลาก ปลาพวกนี้จะว่ายขึ้นสู่ธารน้ำใส และวางไข่ ก่อนที่ลูกปลาจะกลับลงสู่น้ำลึก เติบโตในฤดูกาลถัดไป

ปลาชนิดนี้ไม่อาจทนต่อมลพิษได้เลย หากดำน้ำลงไปใช้แหคลุมขอนไม้ที่พวกมันอาศัยอยู่ใต้น้ำ และจับตัวขึ้นมาได้ จะต้องใส่ในภาชนะบรรจุน้ำจากแหล่งธรรมชาติที่สะอาดในทันที ไม่เช่นนั้นปลาปากบานจะตาย และราคาตก
.
<bR><FONT color=#000033>รีดไข่จากปลาตัวเมียในขั้นตอนการทำผสมเทียม หลังจากนี้นักวิทยาศาสตร์จะต้องฟูมฟักไข่ที่ผสมแล้วและดูแลอย่างใกล้ชิดในแล็บ ให้ฟักเป็นตัว และเลี้ยงดูจนแข็งแรงก่อนนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ. -- ภาพ: Tuoi Tre.</b>
.
บริเวณรอบๆ ปากที่ดูคล้ายปากของสุกรนั้น แท้จริงแล้วเป็นกระดูกอ่อนที่เคี้ยวกรุบกรับอร่อย ผู้รู้บอกว่า ส่วนนี้แหละทรงคุณค่าที่สุด เมื่อนำไปต้มในน้ำผึ้งจนสุก มันเป็นยาระดับ “ซูเปอร์ไวอากร้า” เลยทีเดียว

แม้จะยังไม่มีผู้ใดสามารถแยกเรื่องจริงจากเรื่องเล่าได้ในขณะนี้ก็ตาม แต่ในอดีต ขุนนางหลายคนได้ออกล่าปลานกแก้วปากบานเพื่อเอาปากของมันไปเป็นเครื่องประดับบารมี เช่นเดียวกับนอของแรด เขาของกวาง หรือส่วนปากและ “หู” ของฉลาม

แต่ร้านอาหารในเมืองเหวียดจี๊บอกว่า ส่วนที่มีคุณค่ามากที่สุดน่าจะเป็นกระเพาะของมัน เชื่อว่ามันเป็นยาอายุวัฒนะ เนื่องจากปลาแองหวูอาศัย และหากินพืชที่มีสรรพคุณทางยาในน้ำลึก ที่ผู้คนลงไปไม่ถึง แต่ถ้าหากปลาเลี้ยงก็คงจะต่างออกไป

ร้านอาหารแห่งนี้บอกว่า จับปลาแองหวูจากแม่น้ำได้ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2551 และได้ถ่ายรูปติดไว้ที่ร้าน

นายเหวียนแหม่งฟุก (Nguyen Manh Phuc) นักวิชาการแห่งศูนย์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จ.ฟุเถาะ กล่าวว่า ที่นั่นเริ่มแพร่พันธุ์ปลาแองหวู โดยเรียนรู้เทคโนโลยีจากสถาบันวิจัยสัตว์น้ำแห่งชาติ และพร้อมจะเผยแพร่เทคนิคต่างๆ ต่อไป ตั้งแต่ขั้นตอนการผสมเทียม การฟักไข่ การเลี้ยงดูลูกอ่อนปลา และนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติที่สะอาด ปลอดมลพิษ.
<bR><FONT color=#000033>ลูกปลานกแก้วปากบาน หรือ แองหวู (<i>Semilebeo obscuru</i>) ที่เลี้ยงในห้องทดลองจนอายุ 2 เดือน ก่อนจะนำลงสู่แหล่งนำธรรมชาติในที่ๆ จัดให้จนกว่าจะปรับตัวได้ จึงปล่อยให้เป็นอิสระ. -- ภาพ: Tuoi Tre.</b>
.
นักวิชาการคนนี้ได้นำคณะออกค้นหาปลาแองหวู ในลำน้ำถิ่นอาศัยตามธรรมชาติทั้งสองแห่ง พวกเขารอนแรมอยู่แถบนั้นหลายปี จนสามารถจับตัวผู้ตัวเมียขึ้นมาได้คู่หนึ่ง แต่กว่าจะเรียนรู้ทำให้ฟักออกมาเป็นตัว เลี้ยงดูให้เติบโตได้ก็ยังไม่ใช่เรื่องง่าย พักหลังๆ นี้จึงต้องเดินทางไปหลายตำบลใน อ.เหวียดจี๊ ไปเยี่ยม และติดตามการเลี้ยงในฟาร์มของเกษตรกร

นายฟุกกล่าวว่า ลำน้ำแบ๊กหัก กับลำน้ำนาหั่ง เป็นถิ่นกำเนิดของปลานกแก้วปากบาน การสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำทั้งสองสายกำลังจะเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศอย่างสำคัญ ซึ่งอาจจะถึงกับทำให้ปลาหายากชริอดนี้สูญพันธุ์จากธรรมชาติอีกครั้ง

ปลาแองหวูมีได้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Semilebeo obscuru และ Semilebeo notabilis เคยเติบโตในแม่น้ำแดง แต่เมื่อน้ำในแม่น้ำสายหลักในภาคเหนือปนเปื้อนมากขึ้น ปลาพวกได้อพยพไปหาแหล่งที่อยู่ใหม่

ปลาที่จับได้จากธรรมชาติราคาแพงมาก ในท้องถิ่นขายกันกิโลกรัมละ 800,000 ด่ง (38 ดอลลาร์) และ 1 ล้านด่ง (45 ดอลลาร์) ในกรุงฮานอย

เมื่อหลายสิบปีก่อน เคยมีคนตกปลาแองหวูได้ในทะเลสาบตะวันตก หรือ “โห่เตย” (Ho Tay) กรุงฮานอย แต่สภาพน้ำเน่าเสียในปีหลังๆ ทำให้ปลาแองหวูที่นั่นหายไปจนหมด กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมได้ประกาศให้ปลาชนิดนี้เป็นสัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์ และต้องได้รับการคุ้มครอง.
กำลังโหลดความคิดเห็น