ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ผลการเลือกตั้งซ่อมวันที่ 1 เม.ย.2555 บ่งบอกว่า หากจัดเลือกตั้งทั่วไปขึ้นทั่วประเทศในวันนี้ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยจะได้ครองเสียงข้างมากในสภา และประธานาธิบดีของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ก็จะไม่ใช่ใครอื่นหากเป็นนางอองซานซูจี อดีตนักโทษที่ถูกขังคุก และถูกกักบริเวณในบ้านนานถึง 15 ปี
แท้จริงแล้ว นางซูจีควรจะได้ขึ้นเป็นผู้นำประเทศตั้งแต่ปี 2533 หลังการเลือกตั้งที่พรรคฝ่ายค้านเอาชนะแบบถล่มทลาย แต่คณะปกครองทหารในยุคโน้นไม่ยอมลงจากอำนาจ
ชัยชนะครั้งนี้ ได้เปลี่ยนฐานะนางซูจีครั้งสำคัญในรอบ 2 ทศวรรษ พร้อมกับภาระหนักอึ้งรออยู่ข้างหน้า และเต็มไปด้วยแรงกดดันมากมายเหลือคณานับ และหนทางไปสู่การเป็นผู้นำประเทศในอีก 3 ปีข้างหน้านั้น ก็ยังยาวไกล เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และอาจจะไปไม่ถึงดวงดาว
นางซูจีนำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy) กวาดไป 43 จากทั้งหมด 45 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งซ่อม จากมหาศรัทธาของประชาชนที่มีต่อหัวหน้าพรรคล้วนๆ ทั้งๆ ที่ผู้สมัครของพรรคเกือบทั้งหมดล้วนเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ และไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง
“เรารักแม่ซู”, “เรารักป้าซู”, “เราขอเคียงข้างออองซานซูจี” ฯลฯ ไม่ว่าจะไปหาเสียงที่ไหนในช่วงที่ผ่านมา จะมีชาวพม่าหลากเชื้อชาตินับหมื่นๆ คนไปรับฟังการปราศรัย และจะเห็นป้ายข้อความเช่นนี้อยู่เสมอ
เป็นบุตรีของนายพลอองซานบิดาแห่งเอกราช และวีรชนแห่งชาติ มารดาเป็นอดีตเอกอัครราชทูตประจำหลายประเทศ อองซานซูจีเรียนสำเร็จชั้นมัธยมศึกษาในอินเดีย จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด จบปริญญาโท และเอกจากอังกฤษ เป็นสตรีคนหนึ่งที่ชาวโลกรู้จักมากที่สุด
“ดร.ซูจี” เป็นสัญลักษณ์แห่งความรู้กับภูมิปัญญา ต่างไปจากผู้นำเผด็จการทหาร ที่มีภาพลักษณ์แก่คร่ำครึ นิยมความรุนแรง เป็นผู้ร้ายในสายตาของชาวโลก แต่การเปลี่ยนความคาดหวังทางการเมืองของผู้คนให้เกิดเป็นความจริงขึ้นในชีวิตประจำวันนั้น ใครๆ ต่างก็ออกปากว่ายากยิ่ง
นางซูจีจะนำประเทศให้พ้นจากความยากจน กับวังวนทางการเมืองภายใต้ระบอบเผด็จการทหารได้สำเร็จหรือไม่ เป็นคำถามใหญ่
สมาชิกใหม่ของฝ่ายค้านทั้ง 43 คน กำลังจะไปยังเมืองหลวง เพื่อเข้านั่งใน “สภาล่าง” หรือ “ปีตูลู๊ตดอ” (Pyithu Hluttaw) ซึ่งดูแล้วราวกับแกะฝูงเล็กที่ห้อมล้อมด้วยหมาป่าฝูงใหญ่ เนื่องจากมีจำนวนเพียง 7% ในสภาที่มีสมาชิก 440 คน อีก 80% เป็นพรรครัฐบาลที่ไปจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2553 แม้จะมีเสียงครหาว่า “พรรคทหาร” ใช้ทุกกลโกงเพื่อเอาชนะก็ตาม รวมทั้งการกัน “แม่ซู” ออกไปจากหนทางอีกด้วย
อีก 25% หรือ 110 ที่นั่ง ยังเป็นผู้แทนที่ได้รับแต่งตั้งจากกองทัพตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 จำนวนที่เหลือเป็นของฝ่ายค้าน 2-3 กลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่แตกตัวออกจาก NLD ไปตั้งพรรคใหม่เพื่อเข้าร่วมการเลือกตั้ง และเคยถูกนางซูจีประณามเป็น “พวกทรยศต่ออุดมการณ์”
ในสภาสูง หรือสภาชนเผ่า “อะเมียวตาลู๊ตดอ” (Amyotha Hluttaw) ซึ่งแม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรงในชีวิตประจำวันทางการเมือง พรรค NLD ยังหามิตรได้ยากยิ่ง สมาชิก 56 คนจากทั้งหมด 224 คนในสภาแห่งนี้เป็นผู้แทนที่แต่งตั้งจากกองทัพ
.
.
**ปลายทางของ “แม่ซู”**
ก่อนหน้านี้เพียง 17 เดือน นางซูจียังถูกกักบริเวณในบ้านพักหลังเก่าในกรุงย่างกุ้ง การเปลี่ยนฐานะจากนักโทษไปเป็นสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติ นับเป็นผลพวงของการปฏิรูปพม่าแบบพลิกทุกความคาดหมายของประธานาธิบดีเต็งเส่ง นายพลเอกอดีตผู้นำหมายเลข 4 คณะปกครองทหาร
ประธานาธิบดีพม่าเองก็คงจะอดแปลกใจไม่ได้ ถึงแม้ว่าหลายปีมานี้ ฝ่ายทหารจะได้พยายามทำลายความน่าเชื่อถือในทุกๆ เรื่อง แต่เสียงเรียก “แม่ซู” ก็ยังก้องดังในทุกที่ๆ นางไปรณรงค์หาเสียง วันนี้ “คุณผู้หญิง” (The Lady) ที่อดีตคณะปกครองทหารเรียก ก็ยังเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว และน่าเกรงขามไม่เสื่อมคลาย
อีกคำถามหนึ่งที่ติดตามมาก็คือ นางซูจีจะทำงานอย่างไรกับฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้การเมืองบรรลุเป้าหมาย
นายเนียน วิน ผู้จัดการการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรค NLD กล่าวว่า ความสำคัญลำดับแรกของซูจีในการเข้าสู่รัฐสภา จะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้อาจทำให้นางต้องปะทะกับกลุ่มทหารที่มีแนวคิดแบบเก่า
รัฐธรรมนูญของพม่าประกาศใช้หลังลงประชามติในปี 2551 กำหนดให้มีการสำรองที่นั่ง 1 ใน 4 ของรัฐสภาให้แก่ทหาร และอนุญาตให้ประธานาธิบดีสามารถถ่ายโอนอำนาจให้แก่ผู้บัญชาการทหารได้ในภาวะฉุกเฉิน
ในการปราศรัยก่อนการเลือกตั้งจะเริ่มขึ้นไม่กี่วัน พล.อ.มินอองหล่าย ผู้บัญชาการกองทัพ ให้คำมั่นที่จะปกป้องคุ้มครองรัฐธรรมนูญที่รับประกันบทบาทความเป็นผู้นำทางการเมืองของกองทัพ เวลาต่อมา นางซูจีแถลงข่าวที่บ้านพักในนครย่างกุ้งระบุว่า กองทัพต้องตระหนักว่าอนาคตของประเทศคือ อนาคตของพวกเขา และการปฏิรูปในประเทศนี้หมายถึงการปฏิรูปสำหรับพวกเขาเช่นเดียวกัน
ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียง ส.ส. และเคยให้สัมภาษณ์ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่ก็เชื่อว่า นางซูจีกำลังจะเติมความมีชีวิตชีวาให้แก่สภา จากที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียงมากมายในปัจจุบัน กลายเป็นเวทีแห่งการอภิปรายเรื่องราวต่างๆ ที่เผ็ดร้อนยิ่งขึ้น
นักการนักวิเคราะห์ของสำนักข่าวรอยเตอร์กล่าวว่า มีบุคคล 2 คน ที่นางซูจีจะต้องทำงานด้วยตลอดสมัยของรัฐสภาที่ยังเหลืออยู่ นอกจากประธานาธิบดีเต็งเส่งแล้ว ก็ยังมีนายฉ่วยมาน ประธานสภาล่าง อดีตนายพลเอก อดีตผู้นำหมายเลข 3 ในคณะปกครองทหาร
ในสายตาของนักวิเคราะห์ ฉ่วยมานซึ่งเคยอยู่ในอันดับที่เหนือกว่าเต็งเส่งมาก่อน ปัจจุบันบุคคลทั้งสองจะต้องพึ่งพากันและกันต่อหน้า “คุณผู้หญิง” ที่กลับมาแจ้งเกิดทางการเมืองในระบบอีกครั้งหนึ่ง ในขณะเดียวกัน ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดทั้งสองคนก็ต้องพึ่งพานางซูจี เพื่อการถ่วงดุลแห่งอำนาจ
หมายความว่า เมื่อมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในอีก 3 ปีข้างหน้า ประธานาธิบดีอาจจะไม่ได้ชื่อเต็งเส่ง แต่อาจจะชื่อตูระฉ่วยมาน หรืออองซานซูจี เนื่องจากบุคคลทั้งสองสามารถแทนที่ผู้นำสูงสุดคนปัจจุบันได้
.
.
ในวันข้างหน้า ยังอาจจะมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ก้าวขึ้นมาอย่างโดดเด่นในเวทีการเมืองของประเทศ รวมทั้งบรรดาแกนนำกลุ่มนักศึกษา “รุ่น 88” ที่เคยนำขบวนต่อสู้กับเผด็จการทหารในปี 1988 และถูกปราบปรามอย่างรุนแรง ถูกจับกุม หลายคนหลบหนีไปลี้ภัยในต่างแดน
พวกเขาได้รับการชื่นชมอย่างกว้างขวาง และใช้เวลาหลายปีอยู่ในเรือนจำ หลายคนถูกจับกุมซ้ำ จากบทบาทสำคัญ ในการลุกฮือปี 2550 ที่นำโดยพระสงฆ์ การเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมาแกนนำเหล่านี้จะไม่ได้เข้าร่วมพรรคของนางซูจี แต่พวกเขาได้แสดงความภักดีต่อซูจี เพียงแต่ในวันข้างหน้า ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนไปได้
การปฏิรูปการเมืองให้ไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างเป็นขั้นเป็นตอนของรัฐบาลประธานาธิบดีเต็งเส่ง อาจจะไม่ทันใจโลกตะวันตก แต่การปฏิรูปการเงิน หันไปยอมรับเศรษฐกิจแบบตลาดทำให้ได้รับความชื่นชม และการเลือกตั้งซ่อมที่เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ก็อาจจะเป็นด่านสุดท้าย จะทำให้สหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปยกเลิกการคว่ำบาตรต่อพม่าที่ดำเนินมานานกว่า 20 ปีในขณะนี้
การคว่ำบาตรได้เป็นอุปสรรคอันสำคัญ ในขณะที่บริษัทจากชาติตะวันตกเรียงแถวรอเข้าลงทุนในพม่า ซึ่งเป็นปราการสุดท้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รุ่มรวยด้วยทรัพยากร
คำถามต่อมาก็คือ เมื่อการคว่ำบาตรถูกยกเลิกลงไปแล้ว อิทธิพลของนางซูจีต่อรัฐบาลชาติตะวันตก จะถูกลดระดับลงหรือไม่ หรือว่าผู้นำฝ่ายค้านที่ผ่านการต่อสู้มาอย่างโชกโชนทั้งชีวิตจะเป็นแค่เพียงหนึ่งเสียงในรัฐสภาเท่านั้น
“ฉันไม่มีความตั้งใจที่จะถอนตัวออกจากรัฐสภาที่ฉันใช้ความพยายามอย่างมากที่จะเข้าไป” นางซูจีให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการยืนยันความตั้งใจที่จะไม่นำพรรคเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งหมายถึงจะต้องลาออก และเลือกตั้งซ่อมกันอีกแทนตำแหน่งที่ว่างลง
“คุณผู้หญิง” เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2534 ยืนหยัดที่จะต่อสู้ตามวิถีทางรัฐสภาต่อไป โดยมีเป้าหมายสำคัญในอีก 3 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งกลับมองว่า ด้วยอายุ และสุขภาพที่ไม่แข็งแรง และในระหว่างการเดินสายออกปราศรัยหาเสียงไปทั่วประเทศที่ผ่านมา ก็ล้มป่วยไป 2 ครั้ง จึงมีแนวโน้มว่านางซูจีอาจปฏิเสธการเสนอชื่อตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2558 ซึ่งนางจะมีอายุ 70 ปีในปีนั้น.
.