เอเอฟพี - พรรคการเมืองของนางอองซาน ซูจี ประกาศวันนี้ (2 เม.ย.) ว่า พรรคชนะที่นั่งได้อย่างน้อย 43 ที่นั่ง จากทั้งหมด 44 ที่นั่ง ที่พรรคส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งซ่อมที่มีขึ้นในสุดสัปดาห์
“เราชนะ 43 ที่นั่ง จากทั้งหมด 44 ที่นั่ง เรายังรอผลการเลือกตั้งในเขตสุดท้ายในรัฐชาน” นายยี โต โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ระบุ โดยอ้างผลนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการของพรรค
ประชาชนหลายพันคนปรบมือ และส่งเสียงเชียร์อยู่ภายนอกอาคารสำนักงานใหญ่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ในนครย่างกุ้ง คืนวานนี้ (1 เม.ย.) หลังพรรคประกาศว่านางอองซาน ซูจีชนะที่นั่งในสภา บางคนออกมาเต้นรำอยู่บนท้องถนน ขณะที่หลายคนร่ำไห้ด้วยความยินดีกับข่าวที่ได้ยิน ที่หากได้รับยืนยันจะกลายเป็นการพลิกโฉมครั้งสำคัญของอดีตนักโทษการเมืองที่ถูกควบคุมตัวโดยรัฐบาลทหารในอดีตในช่วงเวลา 22 ปีที่ผ่านมา
“เรารอคอยวันนี้มาอย่างยาวนาน ผมมีความสุขมาก” ผู้สนับสนุนพรรค NLD รายหนึ่งกล่าว
นายโซ วิน เจ้าหน้าที่พรรค NLD อ้างผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการของพรรคว่า นางอองซาน ซูจีกวาดคะแนนเสียงได้มากถึงร้อยละ 99 จากการลงคะแนนเสียงทั้งหมดในเขตเลือกตั้งกอมู
ทั้งนี้ ยังไม่มีการยืนยันผลคะแนนดังกล่าว และผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการคาดว่าจะมีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์
“เป็นเรื่องปกติที่สมาชิกพรรค NLD และผู้สนับสนุนมีความสุขในช่วงเวลาเช่นนี้” นางอองซาน ซูจีกล่าวในแถลงหลังการเลือกตั้ง
“แต่คำพูด การกระทำ และการแสดงออก สามารถทำร้าย และสร้างความเสียใจให้แก่พรรคอื่นๆ ซึ่งประชาชนควรหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด ฉันต้องการให้สมาชิกพรรค NLD ทุกคนมั่นใจว่าชัยชนะของประชาชนเป็นชัยชนะอย่างมีเกียรติ” นางอองซาน ซูจีระบุ
นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ให้คำมั่นที่จะสนับสนุนการปฏิรูปในพม่า
“แม้ผลการเลือกตั้งยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ สหรัฐฯ ขอแสดงความยินดีกับประชาชนที่มีส่วนร่วม และมีหลายคนที่เข้าร่วมเป็นครั้งแรกในการรณรงค์หาเสียง และกระบวนการเลือกตั้ง” นางคลินตันกล่าวกับผู้สื่อข่าว
ผู้สังเกตการณ์หลายคนเชื่อว่า รัฐบาลกึ่งพลเรือนชุดใหม่ของพม่าต้องการให้นางซูจีชนะการเลือกตั้งเข้าสู่สภาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการปฏิรูปประชาธิปไตยของประเทศ และเป็นหนทางไปสู่การผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก
ด้านเจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปที่ได้รับเชิญให้เข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้ง แม้จะยกย่องต่อสัญญาณที่น่ายินดีเมื่อเข้าเยี่ยมชมคูหาเลือกตั้งหลายสิบแห่ง แต่ก็ระบุว่า การเข้าสังเกตการณ์ของทีมในพื้นที่นี้ยังไม่เพียงพอที่จะชี้ชัดได้ว่า กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นในส่วนอื่นๆ ของประเทศด้วย และไม่เพียงพอที่จะกล่าวถึงความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้ง
ผู้สนับสนุนนางอองซาน ซูจีหลายคนเดินทางมารออยู่นานหลายชั่วโมงท่ามกลางแสงแดด เพื่อรอพบนางอองซาน ซูจีในเขตเลือกตั้งกอมู ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงบางคนสวมชุดพื้นเมืองชนชาติกะเหรี่ยง เข้าแถวอย่างสงบเพื่อลงคะแนนเสียงของตัวเอง และหลายคนแสดงออกอย่างเปิดเผยต่อการสนับสนุน และชื่นชมนางอองซาน ซูจี ต่างไปจากช่วงเวลาที่อยู่ภายใต้การปกครองระบอบทหาร
“เธอเป็นผู้เดียวสำหรับพวกเรามาตลอด 20 ปี เราเชื่อในตัวเธอ และต้องการลงคะแนนเสียงให้แก่เธอ เกือบทั้งหมู่บ้านจะลงคะแนนเสียงให้ป้าซู” นายติน ซอ วิน กล่าว
บางคนร้องเรียนว่า ชื่อของพวกเขาหายไปจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
“ฉันต้องการลงคะแนนเสียงให้แม่ซู แต่พวกเขาไม่ให้บัตรลงคะแนนเสียง ดังนั้น ฉันเลยมาที่นี่เพื่อร้องเรียนขอบัตรของฉัน” ซิน มิน กล่าวกับผู้สื่อข่าวของเอเอฟพีที่คูหาเลือกตั้ง
พรรค NLD ได้ร้องเรียนเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลบนบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ที่ว่ามีการป้ายขี้ผึ้งลงบนช่องลงคะแนนเสียงของพรรค ที่อาจถูกลบออกในภายหลังเพื่อให้การลงคะแนนเสียงดังกล่าวเป็นโมฆะ
“สิ่งนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ผมได้ส่งจดหมายร้องเรียนไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว” โฆษกพรรค NLD กล่าว
ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรค NLD ได้ร้องเรียนว่ามีการข่มขู่ผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และความไม่ชอบมาพากลอื่นๆ ซึ่งนางอองซาน ซูจีกล่าวว่า การเลือกตั้งไม่สามารถจะพิจารณาได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริง
การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2553 ที่พันธมิตรทางการเมืองของทหารกวาดคะแนนเสียงส่วนใหญ่ไปได้ มีการร้องเรียนอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการข่มขู่ และการโกงเลือกตั้ง รวมทั้งการไม่มีส่วนร่วมของนางอองซาน ซูจี ที่ถูกปล่อยตัวเป็นอิสระจากการถูกควบคุมตัวภายในบ้านพักนาน 7 ปี ไม่นานหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น
แม้พรรค NLD ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในปี 2533 แต่บรรดานายพลที่ปกครองประเทศอยู่ในขณะนั้นปฏิเสธผลการเลือกตั้งดังกล่าว
การเลือกตั้งซ่อมที่มีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (1 เม.ย.) มีขึ้นเพื่อหาผู้แทนเข้าทดแทนที่นั่งที่ว่างลงหลังสมาชิกรัฐสภาเข้าไปทำหน้าที่ในคณะรัฐบาล และการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าจะมีขึ้นในปี 2558
หลังอยู่ใต้การปกครองระบอบทหารนานเกือบครึ่งศตวรรษ รัฐบาลทหารได้โอนถ่ายอำนาจในเดือน มี.ค. 2554 ให้แก่รัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยประธานาธิบดีเต็งเส่ง หนึ่งในอดีตนายทหารที่ถอดเครื่องแบบเข้าร่วมการเลือกตั้งในปี 2553
นับตั้งแต่นั้น รัฐบาลชุดใหม่ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่ประชาคมโลกด้วยการปฏิรูปประชาธิปไตยหลายด้าน เช่น การปล่อยนักโทษการเมืองหลายร้อยคน
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีนักโทษการเมืองถูกควบคุมตัว การต่อสู้ระหว่างกองกำลังทหารของรัฐและกบฏชนกลุ่มน้อย และข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยังคงเป็นประเด็นหลักของชาติตะวันตกที่จะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่า
ผู้บัญญัติกฎหมายของสหรัฐฯ ที่ร่างมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าระบุว่า ยังเร็วเกินไปที่จะผ่อนคลายมาตรการต่อพม่า แม้จะมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในวันอาทิตย์ก็ตาม เนื่องจากยังมีนักโทษการเมืองอีกเป็นจำนวนมากที่ยังอยู่หลังกรงขัง ความรุนแรงยังมีอยู่ต่อเนื่องกับชนกลุ่มน้อย และทหารยังคงมีบทบาทเป็นโครงสร้างของรัฐบาล