ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ศาลนครหายฝ่อง ได้อ่านคำพิพากษาในวันศุกร์ 30 มี.ค. ให้จำคุก 20 ปี อดีตผู้อำนวยการ และอดีตประธานรัฐวิสาหกิจต่อเรือใหญ่ของประเทศ ฐานทำให้บริษัทของรัฐได้รับความเสียหายเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 43 ล้านดอลลาร์ ขณะเป็นผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งตกอยู่ในสภาพล้มละลายเนื่องจากมีหนี้สินรุงรัง
นายฝ่ามแทงบี่ง (Phạm Thanh Bình) อดีตประธานกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมต่อเรือเวียดนาม (Vietnam Shipbuilding Industry Group) หรือ Vinashin ถูกศาลตัดสินว่ากระทำการละเมิดต่อกฎระเบียบของรัฐอย่างจงใจ ซึ่งทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เลวร้ายติดตามมา และโทษที่ได้รับก็เป็นโทษสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด
นายบี่งวัย 59 ปี ได้ยอมรับสารภาพว่า ตนเองได้กระทำผิดพลาด แต่ก็ปฏิเสธว่าไม่เคยกระทำการใดๆ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว และได้อุทิศตนให้แก่รัฐวิสาหกิจกับอุตสาหกรรมต่อเรือของประเทศ และในบางครั้ง ความผิดพลาดได้กลายเป็นการกระทำผิดต่อกฎระเบียบของรัฐ หนังสือพิมพ์เหงื่อยเดือติน (Người Đưa Tin) หนังสือพิมพ์ออนไลน์ภาษาเวียดนามรายงาน
จำเลยอื่นๆ อีกจำนวน 8 คน ซึ่งล้วนเป็นอดีตผู้บริหารในกลุ่มวินาชิน ถูกศาลตัดสินจำคุกคนละตั้งแต่ 3 ปี ถึง 19 ปี ด้วยความผิดหลายสถานลดหลั่นกันไป
“กรณีนี้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงในทางเศรษฐกิจ” นายเจิ่นวันเงวียม (Trần Văn Nghiêm) ประธานคณะผู้พิพากษาศาลนครหายฝ่อง ระบุในขณะที่อ่านคำพิพากษา
การกระทำของนายบี่งกับบรรดาจำเลยทั้งหมด ได้ทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนลดลง และบั่นทอนผลประโยชน์กับความน่าเชื่อถือของประเทศในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศ ทำให้เกิดความชะงักงันในด้านการผลิต กดดันให้รัฐบาลต้องแต่งตั้งคณะบริหารชุดใหม่ขึ้นมาแก้ไขปัญหา ประธานคณะผู้พิพากษากล่าว
นายบี่งกับอดีตผู้บริหารทั้งหมด สร้างความเสียหายให้แก่รัฐใน 2 กรณีเป็นส่วนใหญ่คือ เกี่ยวกับการจัดซื้อเรือโดยสารความเร็วสูงจากอิตาลีลำหนึ่ง และเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องปั่นไฟ แต่มิได้เกี่ยวกับข้อหาที่จะต้องรับผิดชอบทำให้รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ต้องอยู่ในสภาพเป็นหนี้สินกว่า 4,100 ล้านดอลลาร์
ในเดือน ธ.ค.2553 วินาชินได้ขอพักการชำระหนี้ก้อนแรกเป็นเงิน 60 ล้านดอลลาร์ จากเงินกู้ 600 ล้านดอลลาร์ที่มีธนาคารเครดิตสวิสเป็นผู้จัดการจัดหาให้ กรณีนี้ ได้ทำให้บริษัทจัดความน่าเชื่อถือต่างๆ ได้ลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเวียดนามลง
รัฐวิสาหกิจต่อเรือใหญ่ก่อตั้งขึ้นในปี 2539 และมีฐานะใกล้ล้มละลายในปี 2552 เนื่องจากหนี้สินพอกพูน ในขณะที่รัฐบาลได้ทุ่มเทงบประมาณเข้าอุ้มชูแต่ก็ไปไม่รอด
ผู้บริหารของวินาชินถูกกล่าวหาว่า จะต้องรับผิดชอบต่อการทำให้เกิดภาวะหนี้สินล้นพ้น เนื่องจากได้ใช้เงินไปในการลงทุนในแขนงที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลัก และอยู่นอกอุตสาหกรรมต่อเรือ รวมทั้งการลงทุนในตลาดยานยนต์ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการฟ้องร้องคดีที่เกี่ยวกับภาระที่ต้องรับผิดชอบดังกล่าวในขณะนี้