รอยเตอร์ - การเลือกตั้งซ่อมที่กำลังจะมีขึ้นเร็วๆ นี้ ในพม่าอาจเป็นอุปสรรคด่านสุดท้ายต่อการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป ที่มุ่งหวังให้การเลือกตั้งดำเนินอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม และนางอองซานซูจี ให้การรับรอง สมาชิกสภาสหภาพยุโรป ระบุวานนี้ (29 ก.พ.)
ผู้แทนจากสหภาพยุโรปและรัฐมนตรีต่างประเทศ ได้กล่าวกับผู้ปกครองของพม่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ว่า การเลือกตั้งวันที่ 1 เม.ย.อย่างโปร่งใส ที่ นางอองซานซูจี จะเข้าร่วมเลือกตั้งด้วยนั้น จะช่วยให้การยกเลิกคำสั่งห้ามต่างๆ มีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น
“รัฐมนตรีต่างประเทศมีกำหนดจะประชุมหารือในเดือน เม.ย.และผมเชื่อว่า พวกเขาจะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาก นางอองซานซูจี ได้รับเลือก” นายโรเบิร์ต เกิบเบิลส์ สมาชิกรัฐสภาสหภาพยุโรปจากลักเซมเบิร์ก กล่าว
นายเกิบเบิลส์ อ้างถึงการทบทวนมาตรการคว่ำบาตรประจำปีของสหภาพยุโรป ที่มีขึ้นในกรุงบรัสเซลส์ ซึ่งมาตรการต่างๆ จะหมดอายุลงในเดือน เม.ย.นี้ และในโอกาสดังกล่าวมาตรการบางอย่างอาจมีทั้งต่ออายุใหม่ ยกเลิก หรือทบทวนมาตรการใหม่
รัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป เริ่มกระบวนการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ด้วยการยกเลิกคำสั่งห้ามออกวีซ่าเดินทางของเจ้าหน้าที่ระดับสูง และประธานาธิบดีพม่า เป็นการตอบรับการปล่อยตัวนักโทษการเมืองมากกว่า 300 คน ที่มีขึ้นก่อนหน้านั้น
ผู้แทนสมาชิกสภาสหภาพยุโรป 11 คน เดินทางเยือนพม่าเป็นครั้งแรกและในสัปดาห์นี้คณะผู้แทนเหล่านี้ได้เข้าพบกับสมาชิกสภา เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล รวมทั้งประธานาธิบดีเต็งเส่ง
นายเวอร์เนอร์ แลนเก้น จากเยอรมนี ที่เป็นผู้นำคณะผู้แทนเยือนพม่าครั้งนี้ กล่าวว่า พวกเขาได้รับการรับรองจากทางการพม่าว่าการเลือกตั้งจะดำเนินไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม
“หากผลการเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม อาจส่งผลให้มาตรการคว่ำบาตรถูกยกเลิกในเดือน เม.ย.” นายแลนเก้น กล่าว
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งกับกบฏชนกลุ่มน้อยในรัฐกะฉิ่นทางภาคเหนือของประเทศ ยังดำเนินอยู่แม้จะมีคำสั่งจากประธานาธิบดีต่อกองทัพให้ยุติการต่อสู้ นักวิเคราะห์บางราย กล่าวว่า ความขัดแย้งเป็นอุปสรรคใหญ่ที่สุดต่อการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก
อุปสรรคอีกหนึ่งประการ คือ ระยะเวลาของขั้นตอนที่จำเป็นต้องดำเนินการในกรุงบรัสเซลส์เพื่อยกเลิกข้อห้ามทางการค้าและเศรษฐกิจ นักการทูตบางคนกล่าวว่าสหภาพยุโรปควรจะเร่งดำเนินการ เพื่อป้องกันมิให้ความคืบหน้าของพม่าชะลอตัวหรือถอยหลัง
สหภาพยุโรปพยายามให้การสนับสนุนต่อพม่าด้วยการเปิดสำนักงานตัวแทนในพม่าและเริ่มกระตุ้นความช่วยเหลือด้านการพัฒนาต่างๆ พร้อมทั้งมอบความช่วยเหลือระยะเวลา 2 ปี มูลค่า 150 ล้านยูโร (198 ล้านดอลลาร์) เมื่อเดือนที่ผ่านมา
นายอิโว เบอเลต์ ผู้แทนจากเบลเยี่ยม กล่าวว่า ข้อจำกัดด้านการเงินคาดว่าจะเป็นมาตรการทางเศรษฐกิจแรกๆ ที่จะได้รับการผ่อนคลาย เนื่องจากมีความจำเป็นต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจของพม่า
ด้าน นางอองซานซูจี ที่ได้พบหารือกับคณะผู้แทนจากสหภาพยุโรปเมื่อวันพุธ กล่าวกับนักข่าวในภายหลัง ว่า การเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งซ่อมมีอุปสรรคเล็กน้อย เพราะข้อจำกัดในการหาเสียง อย่างไรก็ตาม นางอองซานซูจี เห็นพ้องกับความคิดเห็นของตะวันตก ว่า การเลือกตั้งควรเป็นส่วนหนึ่งในการทบทวนมาตรการคว่ำบาตร