เอเอฟพี - หัวหน้าฝ่ายช่วยเหลือต่างประเทศของสหภาพยุโรป กล่าวกับผู้สื่อข่าวก่อนเดินทางเพื่อมอบเงินช่วยเหลือจำนวน 150 ล้านยูโรให้กับพม่า ว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในพม่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อความน่าเชื่อถือในกระบวนการปฏิรูปที่ยังคงเปราะบาง
ขณะที่สหภาพยุโรปยังคงเรียกร้องให้พม่าดำเนินการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมที่จะนำมาซึ่งความเป็นเอกภาพยิ่งขึ้น นายแอนดริส พีบาล์ก (Andris Piebalgs) กรรมาธิการด้านการพัฒนาสหภาพยุโรป กล่าวว่า สหภาพยุโรปจะไม่ส่งผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 1 เม.ย.
นายพีบาร์ก ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีก่อนเดินทางเยือนพม่าในวันเสาร์ (11 ก.พ.) ว่ามีความคืบหน้าเกิดขึ้นอย่างมากในพม่า แม้ว่าประเทศยังคงเปราะบางก็ตาม เขากำลังจะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสหภาพยุโรปคนแรกที่เข้าพบกับประธานาธิบดีเต็งเส่ง นับตั้งแต่พม่าเริ่มปฏิรูปประเทศ
“เราต้องการที่จะสื่อสารว่าเรารับทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและยินดีกับสิ่งที่พม่าดำเนินการปฏิรูป แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไป” นายพีบาร์ก กล่าว ทั้งยังสำทับว่ายังมีนักโทษการเมืองอีกจำนวนมากที่จะต้องได้รับการปล่อยตัว และการเลือกตั้งจะเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อความน่าเชื่อถือในการเปลี่ยนแปลงของพม่า
หลังอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทหารอยู่นานครึ่งศตวรรษ รัฐบาลชุดใหม่ของพม่าก็สร้างความประหลาดใจให้กับบรรดาผู้สังเกตการณ์ด้วยการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการปล่อยนักโทษการเมือง
สหภาพยุโรปเห็นชอบในเดือน ม.ค.ที่จะเริ่มผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปประชาธิปไตย ด้วยการยกเลิกคำสั่งห้ามออกวีซ่าให้กับผู้นำระดับสูงของพม่า และให้คำมั่นที่จะพิจารณาผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่อไปตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ จะทบทวนมาตรการคว่ำบาตร ที่รวมถึงการห้ามนำเข้าหรือส่งออกอาวุธ อัญมณี และ การอายัดทรัพย์สินบุคคลทั่วไปเกือบ 500 ราย นิติบุคคล 900 ราย
“เรายังไม่ได้ประเมินซ้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับพม่า และเราได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรบางส่วน แต่พม่ายังคงอยู่ในช่วงรอยต่อ สถานการณ์ทางการเมืองยังคงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน” นายพีบาร์ก กล่าว
ทั้งนี้ สหภาพยุโรปจะมอบเงินจำนวน 150 ล้านยูโร (เกือบ 200 ล้านดอลลาร์) เป็นความช่วยเหลือเพิ่มเติมให้กับพม่าในช่วงเวลา 2 ปีข้างหน้า ซึ่งการช่วยเหลือนี้จะช่วยทำให้เกิดความแตกต่างอย่างมาก
นับตั้งแต่ปี 2539 สหภาพยุโรปได้มอบเงินช่วยเหลือให้กับพม่าเป็นจำนวนรวม 174 ล้านยูโร เพื่อช่วยเหลือในการต่อสู้กับโรคมาลาเรียและวัณโรค รวมทั้งปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ในพื้นที่ชนบทและช่วยให้เด็กมากกว่า 6 ล้านคนได้เรียนหนังสือ
“สถานการณ์ในปัจจุบันของพม่าทำให้เราสามารถเพิ่มความช่วยเหลือได้” นายพีบาร์ก กล่าว โดยความช่วยเหลือจะส่งผ่านทางหน่วยงานเอ็นจีโอและสหประชาชาติ
“ปัญหาคือจะใช้เงินช่วยเหลือเหล่านี้อย่างไร และหนทางที่ดีที่สุด คือ การเจรจาหารือกับรัฐบาลเพื่อดำเนินการให้บริการภาคสังคม ส่วนหนึ่งของเงินช่วยเหลือที่เรามอบให้อาจใช้สำหรับการให้สินเชื่อเงินกู้ แต่โดยส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในภาคส่วนของสาธารณสุขและการศึกษา” นายพีบาร์ก กล่าว
สหภาพยุโรปไม่ได้กำหนดเงื่อนไขกับเงินช่วยเหลือจำนวน 150 ล้านยูโร เพราะต้องการที่จะสนับสนุนประชาชนชาวพม่า และให้เกิดความคืบหน้าในการปฏิรูปต่อไป เจ้าหน้าที่คนเดียวกันกล่าว.