รอยเตอร์ - หนังสือพิมพ์สเตรทไทม์สของสิงคโปร์ รายงานวานนี้ (31 ม.ค.) ว่าประธานาธิบดี เต็งเส่ง ของพม่า กล่าวว่า รัฐบาลของเขาให้คำมั่นที่จะปฏิรูปการเมืองและจะนำความมั่นคงมาสู่ประเทศก่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ
ประธานาธิบดี เต็งเส่ง ที่อยู่ในระหว่างการเดินทางเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันอาทิตย์ นาน 3 วัน ได้ดำเนินการปฏิรูปหลายด้านในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เช่น การปล่อยนักโทษการเมืองหลายร้อยคน การผ่อนคลายมาตรการควบคุมสื่อ และเข้าหารือกับนางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย
รัฐบาลพม่ายังเห็นชอบที่จะสงบศึกกับกลุ่มกบฏชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา และจัดการหารือกับบางกลุ่มที่ต่อสู้เรียกร้องการปกครองตนเองมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ
“อนาคตของพม่าตั้งอยู่บนสันติภาพและเสถียรภาพ ในขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นสิ่งสำคัญรองลงมาสำหรับประเทศ” ประธานาธิบดี เต็งเส่ง ให้สัมภาษณ์สื่อสิงคโปร์ และว่า พม่าอยู่บนเส้นทางไปสู่ระบอบประชาธิปไตยและจะดำเนินต่อไป พม่ากำลังเสริมสร้างระบบดังกล่าวเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยเฟื่องฟูในพม่า
ประธานาธิบดี เต็งเส่ง เคยเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลเผด็จการทหารแต่ลาออกเมื่อรัฐบาลพลเรือนขึ้นบริหารประเทศในเดือน มี.ค.2554 ขณะที่ประเทศเปิดสู่โลกภายนอกและบรรดารัฐมนตรีเริ่มพูดคุยกับสื่อมากขึ้น
ประธานาธิบดีเต็งเส่งให้ความสนใจในการพัฒนาการค้าเงินตราต่างประเทศและหุ้นที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปเศรษฐกิจ
“ในเวลานี้เราไม่มีทักษะความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว และเรากำลังมองหาความช่วยเหลือทางเทคนิคจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ” ประธานาธิบดี เต็งเส่ง กล่าว
บริษัท Daiwa Securities ของญี่ปุ่น ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวิธีที่จะพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ ส่วนบริษัท Korea Exchange ผู้ควบคุมการซื้อขายหุ้นของเกาหลีใต้ ได้เจรจาหารือกับทางการพม่าเกี่ยวกับหุ้น และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิรูปสกุลเงิน
สิงคโปร์ระบุเมื่อวันจันทร์ (30 ม.ค.) ว่า จะช่วยเหลือพม่าในการฝึกอบรมชาวพม่าที่อยู่ในภาคการเงิน เช่น การวางแผนเศรษฐกิจ และการพัฒนาผังเมือง
รัฐบาลพม่าได้ริเริ่มโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การยกเว้นภาษีให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติ และยกเว้นภาษีเพื่อช่วยการส่งออกสินค้าบางรายการ เช่น ข้าว ถั่ว ข้าวโพด และยาง
แต่เลขาธิการสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน กล่าววานนี้ (31 ม.ค.) ว่า พม่ายังจำเป็นที่ต้องปฏิรูปอีกมากเพื่อจะได้ประโยชน์ทางการค้าที่สมาชิกกลุ่มสามารถเสนอให้ได้
"พม่าจะไม่ได้รับประโยชน์จากพลวัตรของประชาคมอาเซียน ทุกการเชื่อมต่อกับอาเซียนและที่อื่นๆ ในโลก จนกว่าพม่าจะเปลี่ยนแปลงบางอย่างแก้ไขกฎหมาย กฎหมายการลงทุนต่างประเทศ และระบบการผลิต” ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าว และว่า อาเซียนไม่เพียงแค่มองหาทรัพยากร ไม่เพียงแค่มองหาแรงงานราคาถูก แต่อาเซียนต้องการที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่มี พม่าสามารถดำเนินตามแบบอย่างที่ถูกต้อง และหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำผิด อย่างไรก็ตาม พม่าสามารถพึ่งพาอาเซียนได้อย่างแน่นอน