ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- โฆษกกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม นายเลืองแทงหงิ (Luong Thanh Nghi) กล่าวในวันศุกร์ ว่า กระทรวงการต่างประเทศเพิ่งได้พบกับฝ่ายจีนเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อยื่นประท้วงต่อกรณีที่กระทรวงเกษตรของจีนออกประกาศในวันที่ 12 ม.ค. ห้ามเข้าจับปลาใน “ทะเลตะวันออก” ระหว่างวันที่ 16 ม.ค.- 1 ส.ค.ศกนี้ แม้จะเป็นการประกาศตามฤดูก็ตาม
การออกประกาศของฝ่ายจีนเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของเวียดนามเหนือหมู่เกาะพาราเซล (Paracel) หรือ หว่างซา (Hoang Sa) ตลอดจนสิทธิ์อธิปไตยของเวียดนามเหนือในเขตเศรษฐกิจจำเพาะและเขตไหล่ทวีปของตน
การกระทำของจีนยังเป็นการละเมิดคำประกาศเกี่ยวกับกฎแห่งการปฏิบัติ (Declaration Code of Conducts) ที่จีนร่วมลงนามกับกลุ่มอาเซียนในปี 2545 รวมทั้งได้ทำให้สถานการณ์ในทะเลตะวันออกมีความยุ่งย่างขึ้น
“เวียดนามมีสิทธิ์อันไม่อาจโต้แย้งได้เหนือหมู่เกาะสแปร็ตลีย์ (หรือ เจื่องซา) กับหมู่เกาะพาราเซล และมีสิทธิ์อธิปไตย สิทธิ์ครอบคลุมเขตอาณาเหนือเขตเศรษฐกิจจำเพาะและเขตไหล่ทวีป ตามสนธิสัญญาสหประชาชาติปี 1682 ว่าด้วยกฎหมายทางทะเล” โฆษกเวียดนามกล่าว
ในปี 2517 ในขณะที่สงครามเวียดนาม-สหรัฐฯ กำลังงวด จีนได้ส่งทหารเข้ายึดหมู่เกาะสแปร็ตลีย์ ขับไล่ทหารเวียดนามที่มีจำนวนน้อยกว่าออกไปทั้งหมดและยึดครองมาจนกระทั่งปัจจุบัน ในขณะที่เวียดนามยังคงกล่าวอ้างสิทธิ์ของตน
จีนและเวียดนามเพิ่งฉลองครบรอบปีที่ 62 การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในวันที่ 18 ม.ค.นี้
เวียดนามเรียกทะเลจีนใต้ว่า “ทะเลตะวันออก” ขณะที่จีนได้ประกาศใช้แผนที่ทำขึ้นเองฝ่ายเดียวฉบับหนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ แสดงอาณาเขตน่านน้ำที่ล่วงล้ำเข้าไปในน่านน้ำของประเทศแถบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และ บรูไน ซึ่งทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในทะเลจีนใต้ในช่วงต้นปีจนถึงกลางปีที่แล้ว
ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกาหลี ญี่ปุ่น และ สหรัฐฯ แสดงความวิตกกังวลต่อท่าทีของจีน และไม่ยอมรับแผนที่ดังกล่าว ซึ่งขัดต่อข้อตกลงสัญญาว่าด้วยอาณาเขตทางทะเลระหว่างประเทศ สหรัฐฯ ถือว่าทะเลจีนใต้เป็นเส้นทางเดินระหว่างประเทศที่เสรีและใช้กันมาเป็นเวลานานหลายร้อยปี
.
.
กรณีพิพาทระหว่างจีน-เวียดนาม กับ จีน-ฟิลิปปินส์ ถูกนำเข้าหารือในการประชุมอาเซียนตลอดปีที่แล้ว และทุกฝ่ายรวมทั้งจีนต่างให้คำมั่นที่จะไม่ใช้กำลังในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งใน “ทะเลตะวันออก” แห่งนี้
อย่างไรก็ตาม พล.อ.เตีบบัญ รัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา ซึ่งกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านกลาโหมแห่งอาเซียนในเร็วๆ นี้ ให้สัมภาษณ์สัปดาห์นี้ว่ากรณีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ไม่ได้เป็น “วาระเร่งด่วน” ของอาเซียนอีกต่อไป หากเป็น “ปัญหาในบ้าน” และ “จะต้องแก้ไขภายใน”
กัมพูชากำลังทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่มอาเซียนในปี 2555 นี้
แต่สำหรับสหรัฐฯ ได้ประกาศชัดเจนจะเข้ามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาพิพาทในทะเลจีนใต้ เนื่องจากเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญ และสหรัฐฯ มีผลประโยชน์มากมายในภูมิภาคนี้ อันเป็นท่าทีที่ไม่ได้รับการต้อนรับจากจีน ที่ถือว่าเป็นปัญหาที่ประเทศคู่ขัดแย้งควรเจรจาแก้ไขกันเองและไม่สมควรทำให้กลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ
ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ระหว่างประเทศต่างๆ
วันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา นายจางจื่อจุ้น (Zhang Zhijun) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่งในโอกาสครบรอบปีที่ 62 การสถาปนาความสัมพันธ์จีนเวียดนาม โดยระบุว่า “จีนมีความประสงค์จะกรับความสัมพันธ์กับเวียดนามที่มาแต่เนิ่นนาน และส่งเสริมความสัมพันธ์ร่วมมือยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างสองประเทศ”
นายจาง กล่าวอีกว่า การเยือนจีนของนายเหวียนฝูจ็อง (Nguyen Phu Trong) เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (เมื่อปลายปีที่แล้ว) ได้ทำให้ความสัมพันธ์จีน-เวียดนามพัฒนาต่อไปในอนาคตอันใกล้และทำให้เกิดมีการแก้ไขอย่างเหมาะสมต่อปัญหาที่เกี่ยวกับทางทะเล
จีนและเวียดนามระหองระแหงกันมาเป็นระยะๆ แต่ในขณะเดียวกันจีนได้เป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของเวียดนามติดต่อกันมาตลอด 7 ปี และ ปีที่แล้วมูลค่าการค้าสองทางพุ่งขึ้นเป็นกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ จาก 10,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2548 โดยจีนเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลตลอดมา.