ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุนเซน ได้เป็นประธานจัดพิธีรำลึกอันสำคัญที่ได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้งในเช้าวันเสาร์ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยในวันนี้เมื่อ 33 ปีก่อน กลุ่มผู้นำกัมพูชาปัจจุบันได้เชื้อเชิญกองทัพของเวียดนาม เข้าโค่นล้มรัฐบาลเขมรแดงของกลุ่มโปลโป้ท เอียง สารี กับ เคียว สมพร แต่เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความแตกแยกทางความคิดอย่างใหญ่หลวงในประเทศ
เช่นเดียวกับทุกปี มีเพียงพรรคประชาชนกัมพูชา ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเท่านั้นที่จัดพิธีรำลึกเหตุการณ์นี้ ขณะที่พรรคฝ่ายค้านกับผู้คนในอีกหลายวงการ กล่าวว่า แท้จริงเป็นการรำลึกถึง “การรุกรานของเวียดนาม” โดยเขมรแดงกลุ่มฮุนเซน เจียซิม เฮงสัมริน ในปัจจุบันชักศึกเข้าบ้าน
ทหารเวียดนามนับแสนคนยกข้ามพรมแดนเข้ากัมพูชาในวันคริสต์มาสปี 2521 เพื่อโค่นรัฐบาลเขมรแดงของกลุ่มผู้นำที่นิยมจีน และดำเนินนโยบายเป็นศัตรูกับเวียดนาม จากนั้นได้จัดตั้งกลุ่มที่นิยมเวียดนามขึ้นครองอำนาจแทน โดยใช้ข้ออ้างว่า เข้าไปช่วยปลดปล่อยชาวกัมพูชา ให้พ้นจาก “ระบอบล้างชาติโปลโป้ท”
กองทัพมหึมาของเวียดนามยาตราเข้ายึดกรุงพนมเปญได้เบ็ดเสร็จในวันที่ 7 ม.ค.2522 รัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตยของเขมรแดงกลุ่มแรกหมดอำนาจลงหลังบริหารประเทศได้ 3 ปีเศษ และไม่กี่วันหลังจากนั้นเวียดนามก็ประกาศตั้งเขมรแดงแปรพักตร์กลุ่มเพ็ญ สุวรรณ เฮง สัมริน เจียซิม ฮุนเซน ขึ้นครองอำนาจแทน
ฮุนเซนกลายเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศขณะอายุ 25 ปี อีก 7 ปี หลังจากนั้น ก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและครองตำแหน่งนี้ติดต่อกันมาเป็นปีที่ 26 ในปัจจุบัน
แม้ว่ารัฐบาลฮุนเซนจะเพียรพยายามผลักดันให้เหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้ เป็นวันสำคัญของชาติ แต่ถูกคัดค้านจากหลายวงการมาโดยตลอด รวมทั้งประชาคมชาวกัมพูชาในต่างแดนที่ตกเป็นเหยื่อทั้งระบอบเขมรแดงกลุ่มโปลโป้ท และเป็นเหยื่อสงครามกลางเมืองจากการยึดครองของเวียดนาม 2522-2532
ช่วงปีดังกล่าวเวียดนามต้องถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมระหว่างประเทศ องค์การสหประชาชาติไม่รับรองรัฐบาลหุ่นในพนมเปญ และยังสงวนที่นั่งในสมัชชาใหญ่ให้ “กัมพูชาประชาธิปไตย” ซึ่งในปี 2525 ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมโดยอดีตเจ้านโรดมสีหนุเป็นประธานาธิบดี นายซอนซานน์เป็นนายกรัฐมนตรี และ นายเคียว สมพร เป็นรอง ปธน.ฝ่ายกิจการต่างประเทศ
.
2
การเข้ายึดครองกัมพูชาเวียดนามสร้างความตื่นตระหนกให้กับไทยไม่น้อย เนื่องจากจู่ๆ วันหนึ่งได้พบว่า มีทหารต่างชาตินับแสนคนจากประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดกัน เข้ามาประชิดชายแดนทิศตะวันออก
ตัวเลขของตะวันตก ระบุว่า ในช่วงปีที่การสู้รบรุนแรงที่สุด มีทหารเวียดนามอยู่ในกัมพูชาถึง 200,000 คน
อย่างไรก็ตาม สำหรับเวียดนามเอง 10 ปี ในกัมพูชานับเป็นช่วงปีแห่งความมืดมน เนื่องจากเพิ่งจะพ้นจากสงครามกับสหรัฐฯ หยกๆ ต้องถูกค่ำบาตรจากประชาคมโลกที่มีกลุ่มอาเซียนกับไทยเป็นหัวหอก ในขณะที่กองกำลังและรัฐบาลของฝ่ายต่อต้าน ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากจีน ทั้งเงินและอาวุธยุทธปัจจัย
หนึ่งทศวรรษแห่งการยึดครองและสงคราม ทำให้เวียดนามยากลำบากอย่างแสนสาหัสในทางเศรษฐกิจ อาเซียนกับประชาคมระหว่างประเทศกดดันให้เวียดนาม “หลั่งเลือดสีขาว” (Bleeding White) เป็นการลงโทษ ประชาชนเวียดนามหลายสิบล้านคนดำรงชีวิตอยู่อย่างลำเค็ญ กลุ่มผู้นำคอมมิวนิสต์ในกรุงฮานอยยุคนั้น ต้องพึ่งพาสหภาพโซเวียตในทุกทาง
พล.ต.เลข่าเฟียว (Le Kha Phieu) ผู้ชี้นำทางการเมืองกองบัญชาการทหารเวียดนามในกัมพูชา ให้สัมภาษณ์ในเดือน ก.ย.2532 ในโอกาสถอนทหารกองพลสุดท้ายกลับประเทศว่า ช่วง 10 ปีมีทหารเวียดนามเสียชีวิตกว่า 50,000 คน ทั้งจากล้มป่วยและจากการสู้รบกับ “เขมรฝ่ายต่อต้าน” ในเขตชนบท ที่มีเขมรแดงกลุ่มโปลโป้ทเป็นกำลังหลัก
หลายปีต่อมา นายทหารที่เติบโตจากสงครามในกัมพูชาคนนี้ ได้กลายเป็นนายพลโทอาวุโส รัฐมนตรีกลาโหมและต่อมาเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
.
3
สถานการณ์เปลี่ยนไปรวดเร็วมากในช่วงปีสั้นๆ 2532-2534 เมื่อโซเวียตภายใต้การนำของมิคาอิล กอร์บาชอฟ ประเทศใช้นโยบาย “เปลี่ยนแปลงใหม่” เปเรสตรอยก้า (Perestroika) และประกาศถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานหลังจากยึดครองมานาน 10 ปี เป็นกาส่งสัญญาณร้ายถึงเวียดนามกับระบอบฮุนเซน
ปี 2534 อาณาจักรใหญ่สหภาพโซเวียตล่มสลายและแตกเป็นเสี่ยงๆ อันเนื่องจากความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ นำไปสู่การแตกแยกภายในพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกให้กับโลกคอมมิวนิสต์ และในเอเชียเวียดนามต้องหาทางฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีน
ขณะเดียวกัน ระบอบฮุนเซน ต้องเร่งรัดการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลผสมกัมพูชาประชาธิปไตยของเจ้าสีหนุ ต้องยินยอมสลายประเทศ “สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา” ยอมเซ็นสัญญาสันติภาพกรุงปารีสในเดือน ต.ค.2534 ให้สหประชาชาติเข้าไปจัดตั้งองค์การปกครองชั่วคราว และจัดการเลือกตั้งในปี 2536 นำกัมพูชาสู่อีกยุคหนึ่ง
พิธีรำลึกปีที่ 33 “ปรัมปรีย์มกรา” จัดขึ้นอย่างเรียบง่ายเช่นทุกปีและใช้สำนักงานใหญ่พรรคประชาชนกัมพูชาเป็นสถานที่เช่นเคย ฮุนเซนกับภริยาปล่อยนกพิราบเป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพและอิสรภาพ ตามด้วยการแสดงปาฐกถา ซึ่งผู้นำกัมพูชาได้ย้ำให้เห็นความสำคัญของเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวเขมร “เกิดเป็นครั้งที่สอง”
หลายปีมานี้คำว่า “ปรัมปรีย์มกรา” ถูกนำไปใช้ตั้งเป็นชื่อสถานที่สำคัญในหลายจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นชื่อของอำเภอหนึ่งในเมืองหลวงด้วย
ครบรอบปีที่ 33 เป็นพิเศษกว่าทุกปี โดยก่อนหน้านี้หนึ่งวัน ในวันศุกร์ 6 ม.ค. ฮุนเซนกับภริยาได้เป็นประธานในพิธีเปิดใช้ “ทางลอยฟ้า” ข้ามสี่แยกอีกแห่งใหม่ ซึ่งเป็นแห่งที่ 2 ในเมืองหลวงและทั้งประเทศ โดยตั้งชื่อว่า สะพานลอย “ปรัมปรีย์มกรา”.