ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- สัปดาห์นี้เว็บไซต์ที่เชี่ยวชาญด้านข่าวกลาโหมหลายแห่ง พากันยกย่องการพัฒนาเครื่องบินรบแบบ J-11 ของจีน ซึ่งก้าวไกลด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเอง อันเป็นการลบล้างคำสบประมาทของโลกภายนอกที่กล่าวหาตลอดมา ว่า จีนขโมย หรือลอกเลียนเทคโนโลยีตะวันตกไปทั้งดุ้น ในการพัฒนาอากาศยานด้านป้องกันประเทศของตนเอง
ดูจากภายนอกเครื่องบินขับไล่โจมตีอเนกประสงค์รหัส J-11BSM ไม่ต่างอะไรกับซูคอย-30 (Su-30) ที่ผลิตในรัสเซีย แต่ภายในทั้งหมดไม่มีอะไรที่เป็น “ของนอก” แม้แต่น้อย จีนพัฒนาขึ้นเองล้วนๆ ตั้งแต่ระบบบังคับการนำวิถี ระบบเรดาร์ ระบบ “สงครามอิเลกทรอนิกส์” ระบบอาวุธอันทันสมัย ซึ่งทั้งหมดไม่เคยมีใช้ในรุ่น J-11BS ที่พัฒนามาก่อนหน้านี้หรือกระทั่งใน Su-30 ต้นแบบ สำนัก Kanwa Defense กล่าว
พัฒนาการนี้ทำให้เว็บไซต์ข่าวของทางการเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศคู่กรณีสำคัญในทะเลจีนใต้ต้องเกาะติดความก้าวหน้าของจีนอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง
จีนพัฒนา J-11BSM ขึ้นมาใหม่อีกขั้นหนึ่ง เพื่อให้เป็นเครื่องบินรบอเนกประสงค์ ในภารกิจคู่ “โจมตีและป้องกัน” นับเป็นรุ่นที่ก้าวหน้ามากที่สุดเท่าที่จีนเคยผลิตมาจนถึงขณะนี้ และคาดว่าจะทยอยนำเข้าประจำการในกองทัพอากาศแทน Su-27 กับ Su-30 ที่นับวันล้าสมัย Kanwa Defence กล่าวในเว็บไซต์
เว็บไซต์แห่งนี้ยังระบุอีกว่า นายมิคาอิล โปโกสิยัน (Mikhail Pogosyan) ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบอากาศยานของซูคอยไม่เคยกล่าวหาตรงๆ สักครั้งเดียวว่า จีนขโมยเทคโนโลยีและการออกแบบไปจากรัสเซีย และ “ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจีนจะพัฒนาอากาศยานโดยใช้เทคโนโลยีของเขาเอง”
สำนัก Jane's Defence ที่มีชื่อเสียงในกรุงลอนดอนได้ตีพิมพ์รายงานชิ้นหนึ่งในสัปดาห์นี้ระบุว่า “จีนรู้จักเทคโนโลยีที่ใช้ในเครื่องบินตระกูลซูคอย-27-30 อย่างลึกซึ้ง” เนื่องจากใช้งานมานานหลายทศวรรษ และการกล่าวหาว่า จีนละเมิดสิทธิบัตรด้านเทคโนโลยีนั้น นับว่า “มีอคติเกินไป”
เว็บไซต์ AirPower ในออสเตรเลียก็บอกเช่นกันว่า ดูจากรูปลักษณ์ภายนอก J-11B/BS ดูเหมือนกันราวเป็นคู่แฝด Su-27SK และ Su-30UBK จากรัสเซีย แต่ใส่เทคโนโลยีของจีนเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นระบบนำร่องหรือระบบภาพลาดตระเวนโดยใช้ภาพถ่ายจริงผ่านหน้าจอ ระบบควบคุมต่างๆ ในห้องนักบิน
นิตยสารรายสัปดาห์เอวิเอชั่นแอนด์สเปซวีคลี (Aviation & Space Weekly) ในสหรัฐฯ ระบุว่าระบบวิศวกรรมอากาศยานตลอดจนวิธีผลิตเครื่องบิน J-11B เริ่มใกล้มาตรฐานตะวันตกเข้าไปอีกขั้นหนึ่ง แต่ถ้าหากจีนต้องการเครื่องบินรบอเนกประสงค์อย่างแท้จริงก็จะต้องพัฒนาสมรรถนะให้ได้ระดับ F-15E ของสหรัฐฯ เป็นอย่างน้อย จึงจะสามารถพันตูกลางอากาศได้
.
2
อย่างไรก็ตาม นิตยสารรายสัปดาห์ฉบับนี้ ระบุว่า เมื่อติดระบบอาวุธและอุปกรณ์ทันสมัยของจีนเข้าไป เครื่องบินรบรุ่น J-11BS/BSM ของกองทัพประชาชนจีน จะสามารถต่อกรกับการเผชิญหน้าทางอากาศกับฝ่ายตรงข้ามได้มากขึ้น
สื่อในเวียดนามได้รายงานความคืบหน้าด้านอาวุธของจีนแบบเกาะติดตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นการประกอบและทดลองเดินเครื่องเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว หรือ การพัฒนาเครื่องบินรบ 2-3 รุ่นล่าสุด ซึ่งรวมทั้งเครื่องบินเพื่อใช้ประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบินในอนาคต ซึ่งจีนประกาศจะสร้างขึ้นด้วยแบบและเทคโนโลยีของตัวเองจำนวน 2 ลำ
สัปดาห์ก่อนนี้สื่อออนไลน์ในเวียดนามหลายสำนัก ได้ติดตามรายงานการทดสอบเครื่องบินรบ J-20 ซึ่งมีสมรรถนะในการหลบเลี่ยงเรดาร์ข้าศึกด้วยเทคโนโลยี “สเตลธ์” นับเป็นการขึ้นบินทดสอบครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ต้นปีมานี้
นอกจากนั้น จีนก็ยังกำลังพัฒนาเครื่องบินบินรบอเนกประสงค์ J-15 “ฉลามบิน” (Flying Shark) อีกรุ่นหนึ่ง เพื่อใช้ประจำบนเรือบรรทุกเครื่องบิน นั่นคือ “Su-33 เวอร์ชันจีน” โดยพัฒนาจากเครื่องบินต้นแบบที่ซื้อจากสาธารณรัฐยูเครนเมื่อหลายปีก่อน ท่ามกลางคำปรามาสจากรัสเซียที่อวดอ้างว่า J-15 จะไม่สามารถทัดเทียม Su-33 ได้ในด้านเทคโนโลยี
ในเวียดนามผู้อ่านจำนวนมากได้ให้ความสนใจติดตามพัฒนาการต่างๆ ของจีน หลายคนแสดงความห่วงใยต่ออนาคตที่จีนได้พัฒนา J-11 ขึ้นเองเพื่อใช้ในกองทัพ ขณะที่เวียดนามเพิ่งสั่งซื้อ Su-30 จากรัสเซีย 2 ฝูง
จีนกำลังจะสร้างขึ้นเองนับร้อยๆ ลำ ขณะที่เวียดนามซื้อได้ครั้งละไม่กี่สิบลำเท่านั้น และหลายคนกล่าวว่ากองทัพประชาชนเวียดนาม ควรหันไปหาระบบขีปนาวุธหรือจรวดป้องกันมากกว่าการซื้อเครื่องบินซึ่งราคาแพงกว่ากันมาก
เมื่อเร็วๆ นี้ จีนเพิ่งจะนำเครื่องบินแบบไร้คนขับ หรือ “โดรน” ออกอวดสายตาโลกภายนอก ซึ่งเป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมของค่ายตะวันตก กล่าวว่า จีนอาจจะต้องใช้เวลาอีก 15-20 ปีเป็นอย่างน้อยในการพัฒนาเครื่องบินเหล่านี้ ให้มีสมรรถนะสูงพอที่จะใช้ประจำการเป็นเครื่องบินรบหลักได้ แต่หลายคนกลับมองว่ามองเช่นนั้นเป็นการใช้มาตรฐานเก่าๆ วัด ในขณะที่จีนยุคใหม่พัฒนาอะไรหลายอย่างได้รวดเร็วมาก
.
3
4
5