เอเอฟพี - นางอองซานซูจี แกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยและผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ที่ได้รับความนับถือของพม่า ในตอนนี้ได้กลายเป็นตัวละครสำคัญในภาพยนตร์เรื่อง “The Lady” ของ ลุค เบซง ผู้กำกับชาวฝรั่งเศส ในการฉายรอบปฐมทัศน์วานนี้ (12 ก.ย.) ที่เทศกาลภาพยนตร์โตรอนโต แคนาดา
ผู้กำกับชาวฝรั่งเศสถ่ายทอดเรื่องราวของนางซูจี ในมุมมองความรักและครอบครัวของนาง นอกเหนือไปจากการต่อสู้ทางการเมืองที่คนส่วนใหญ่รับรู้ ซึ่งได้ข้อมูลส่วนตัวผ่านแหล่งข้อมูลใกล้ชิดของนางซูจี สามีชาวอังกฤษ และลูกชาย 2 คนของนาง
ซูจี เดินทางกลับมาพม่าหลังจากอาศัยอยู่ในออกซฟอร์ด เมื่อปี 2531 เนื่องจากสุขภาพที่ย่ำแย่ของมารดา และใช้ชีวิตในเส้นทางการเมืองนับแต่นั้น ซึ่งส่งผลให้นางถูกควบคุมตัวในบ้านพักโดยรัฐบาลทหารพม่าที่ปกครองประเทศอยู่ในขณะนั้น และนับแต่นั้นนางไม่ได้พบกับนายไมเคิล อริส สามีของนางอีก เพราะรัฐบาลทหารพม่าปฏิเสธที่จะให้วีซ่าเข้าประเทศและนางรู้ว่าหากเดินทางออกจากพม่าก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้ามาอีกเป็นครั้งที่สอง จนกระทั่งปี 2542 นายไมเคิล อริส ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็ง
“ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม นางอองซานซูจี จะไม่มีวันตาย” เบซง กล่าว และว่า มีผู้คนนับหมื่นนับพันที่ยอมสละชีวิตเพื่อประเทศและเพื่อประชาธิปไตย
“คุณจะไม่มานั่งถามตัวเองว่า มันจะสำเร็จหรือไม่ เราจะชนะสงครามนี้หรือไม่ หรือเราจะได้ประชาธิปไตยหรือไม่ แต่คุณเพียงแค่สู้ต่อไป” เบซง กล่าว
ภาพยนตร์เรื่อง “The Lady” นำเสนอเรื่องราวในช่วงที่นางซูจีเดินทางกลับมายังพม่า ในขณะที่ประเทศเกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยจากฝ่ายปกครอง และกลายเป็นความรุนแรง ซึ่งนางซูจีได้ก้าวเข้ามาในเส้นทางการเมืองครั้งแรกในช่วงเวลานั้น และนางได้กล่าวปราศรัยต่อผู้คนหลายหมื่นคนที่รวมตัวกันที่เจดีย์ชเวดากองในกรุงย่างกุ้ง เป็นแกนนำในการเรียกร้องประชาธิปไตยพร้อมทั้งเป็นผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ในคราวนั้น
ความนิยมในตัวนางที่มีอย่างท่วมท้น ทำให้พรรคของนางได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2533 แต่พรค NLD ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาบริหารประเทศ และนางซูจีใช้เวลาส่วนใหญ่ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาไปกับการถูกควบคุมตัวในบ้านพัก
“ฉันใช้ชีวิตและหายใจเฉกเช่นเดียวกับเธอทุกวัน ในช่วง 4 ปีทีผ่านมานี้” มิเชล โหยว ผู้รับบทบาทเป็นนางอองซานซูจี ในภาพยนตร์ กล่าว
นักแสดงชื่อดังชาวมาเลเซียผู้นี้ อ่านหนังสือเล่มเดียวกับที่นางซูจีอ่าน และศึกษาประวัติบุคคลสำคัญที่นางซูจียกย่อง ซึ่งรวมทั้ง มหาตมะคานธี และเธอยังใช้เวลาศึกษาการออกเสียงภาษาอังกฤษแบบไม่มีสำเนียง ซึ่งเป็นสิ่งท้าทายอย่างหนึ่ง มิเชว โหลว อธิบายว่า เป็นการพูดแบบไม่มีช่วงเว้นวรรค เหมืองกับเพลงที่เสียงดนตรีบรรเลงไปเรื่อยๆ
“เมื่อ (ซูจี) กลับมาที่พม่า แน่นอนว่า ภาษาพม่าของเธอต้องมีสำเนียงฝรั่งอยู่บ้าง เพราะเธอใช้เวลาในต่างประเทศนานถึง 16 ปี ดังนั้น หากจะมีสำเนียงฝรั่งติดมาบ้างเล็กน้อยคงจะไม่มีปัญหาอะไร" มิเชล โหยว กล่าว และระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์ โหยว ได้ใช้เวลา 2 วัน ร่วมกับนางซูจีที่บ้านพักของซูจีในกรุงย่างกุ้ง
“เธอโอบกอดฉันอย่างอบอุ่น รูปร่างเธอดูบอบบางก็จริง แต่กลับไม่มีความรู้สึกถึงความอ่อนแอบอบบางแม้แต่น้อยในตัวของผู้หญิงคนนี้ แต่กลับเต็มไปด้วยความแข็งแกร่ง” โหยว กล่าวถึงนางอองซาน ซูจี และว่า นางซูจี นั้น เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน และเธอยังเคลื่อนไหวเร็วมาก
“เธอมีพลังเยอะอย่างน่าประหลาด ฉันคิดว่าเธอจะนิ่งสงบแบบเซน แต่ดูเหมือนว่าเธอจะเหาะผ่านห้องจากมุมหนึ่งไปอีกมุมหนึ่ง คุณจะรับรู้ถึงพลังงานของเธอได้เลย” โหยว กล่าว
“แต่เราไม่เคยพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะเราไม่ต้องการให้เธอตกอยู่ในอันตราย”
รีเบคก้า ฟลินท์ ผู้เขียนบทภาพยนตร์ กล่าวว่า ต้องใช้เวลาหลายปีในการสร้างความเชื่อถือและความไว้วางใจจากซูจีเพื่อให้ได้รับข้อมูลมาเป็นบทภาพยนตร์เรื่องนี้ และว่า นายไมเคิล อริส สามีของนาง (ในภาพยนตร์รับบทโดย เดวิด ธิวลิส) ทำงานแยกกันอย่างชัดเจนในการสนับสนุนภรรยา จึงเป็นเรื่องยากมากในการเข้าไปในส่วนงานที่เขาทำในนามของนางซูจี และเพราะสถานการณ์ในพม่า ทำให้หลายคนที่ให้ความช่วยเหลือในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ต้องการให้ระบุชื่อลงในภาพยนตร์เพื่อความปลอดภัย
ภาพยนตร์เรื่องนี้ส่วนใหญ่ถ่ายทำในไทย และถ่ายทำอย่างลับๆ ในพม่า รวมทั้งใช้ฟิล์มภาพยนตร์ที่ถ่ายโดยนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยร่วมด้วย
เบซง กล่าวถึงการถ่ายทำฉากการกล่าวปราศรัยครั้งแรกของซูจี ที่ชเวดากอง ที่ต้องการบรรยายให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของการรวมตัวชุมนุมของประชาชนชาวพม่าที่รอฟังซูจีในช่วงเวลานั้น ซึ่งสมาชิกพรรค NLD ได้ร่วมอยู่บนเวทีกับ มิเชล โหยว ด้วย
“พวกเขา 3 ใน 4 คน ร่ำไห้ออกมา” เบซง กล่าว เนื่องจาก 20 ปีก่อนหน้านี้ พวกเขาอยู่ท่ามกลางฝูงคนที่เฝ้าดูซูจีกล่าวปราศรัย และกลุ่มคนเหล่านี้ได้บอกกับเขาว่า เขารู้สึกประทับใจที่ได้เคียงข้างนางซูจีในวันนี้
“คำถามคือ มันคุ้มค่าหรือไม่ที่จะต่อสู้เพื่อบางสิ่ง แน่นอน ผมคิดว่ามันคุ้มค่า” เบซง กล่าว