ASTVผู้จัดการออนไลน์ - มีความเป็นไปได้ที่จะมีการแลกเปลี่ยนตัว 2 นักโทษชาวไทย นายวีระ สมความคิด กับ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ กับนักโทษหญิงกัมพูชา 2 คนที่ตกค้างจากข้อตกลงแลกเปลี่ยนกับนักโทษคดีก่อการร้ายชาวไทยมุสลิมจำนวน 2 คน ที่ผ่านมา และอาจจะรวมถึงนักโทษชายอีกคนหนึ่งที่ถูกจับในข้อหาเป็นสายลับในเดือน มิ.ย.ปีนี้ิที่ชายแดนด้านปราสาทพระวิหาร
นายกรัฐมนตรีกัมพูชาฮุนเซนได้กล่าวถึงเรื่องการแลกเปลี่ยนนักโทษระหว่ทางกัมพูชากับไทยเมื่อปีที่แล้ว ทั้งกล่าวหาว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ปฏิบัติตามคำสัญญา ไม่เคยส่งนักโทษให้กับฝ่ายกัมพูชาตามที่ตกลง
ผู้นำกัมพูชาได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นพูด ระหว่างปราศรัยในพิธีมอบปริญญาบัตรแก่บัณฑิตใหม่ในกรุงพนมเปญในวันจันทร์ 12 ก.ย. ขณะที่หลายฝ่ายคาดว่าระหว่างนายกรัฐมนตรีไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปเยือนในสัปดาห์นี้ อาจจะยกเรื่องนี้ขึ้นหารือกับฝ่ายกัมพูชา ศูนย์ข่าว “ต้นมะขาม” ดืมอัมปึล ที่ใกล้ชิดแนบแน่นกับรัฐบาลกล่าว
ดืมอัมปึลรายงานเรื่องนี้ พร้อมทั้งอ้างกระแสข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้จากสื่อของไทยด้วยเช่นกัน
“ในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ กัมพูชาได้ส่งพลเมืองไทยสองคนที่ถูกตัดสินกระทำการก่อการร้ายในกัมพูชาให้ไปรับโทษต่อในไทย แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่เคยส่งนักโทษหญิงกัมพูชาให้เป็นการแลกเปลี่ยน รัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาต่อฝ่ายกัมพูชา” ฮุนเซนกล่าวในวันจันทร์
ฮุนเซนเปิดเผยด้วยว่า อดีตรองนายกรัฐมนตรีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เคยบอกกับตนเองในเดือน มิ.ย. 2553 ว่า ขบวนการทางกฎหมายของไทยที่ดำเนินการให้แก่นักโทษหญิงกัมพูชา 2 คนซึ่งถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตนั้น มีความสลับซับซ้อนมาก แต่ในช่วงดังกล่าวฝ่ายไทยก็ยังเรียกร้องให้มีการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษ
แต่ “รัฐบาลอภิสิทธิ์เพิกเฉยต่อคำร้องขอของฝ่ายเรา” ฮุนเซนกล่าว
ผู้นำกัมพูชาได้เล่าฟื้นอดีตว่า ในเดือน ธ.ค. 2547 ศาลกรุงพนมเปญได้ตัดสินจำคุกตลอดชีวิตนายสมัน อิสมาเอล ซึ่งเป็นพลเมืองกัมพูชากับนายอับดุล อาซิ ฮาจิ และ มูฮัมหมัด ยะลาลูดิน มะดิง พลเมืองไทย นายฮัมบาลี อิบรอฮิม ชาวมาเลย์ กับนายรูชา ยัสเซอร์ ชาวอียิปต์ มีอีกอีกคนหนึ่งได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ
ตามรายงานของสื่อกัมพูชาก่อนหน้านั้น ทั้งหมดถูกจำคุกตลอดชีวิตกระทำผิดฐานเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้า โดยมีเป้าหมายกระทำการก่อการร้ายต่อสถานทูตของประเทศตะวันตกในกรุงพนมเปญระหว่างปี 2545-2546 นักโทษชาวไทยทั้งสองคนถูกส่งตัวกลับไปรับโทษต่อในบ้านเกิดในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์
นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศให้สัมภาษณ์ในเดือน ก.ค. 2552 โดยเปิดเผยว่า เมื่อนายอภิสิทธิ์ไปเยือนกัมพูชาในเดือน มิ.ย.ได้ทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนนักโทษกับผู้นำกัมพูชา และฝ่ายกัมพูชาได้ส่งนักโทษชายไทยมุสลิม 2 คนมาอยู่ในการดูแลของทางการไทยแล้ว ขณะที่นักโทษกัมพูชาที่ไทยจะต้องส่งตัวไปให้ มีเพียง 1 คน เป็นนักโทษคดียาเสพติด จาก 4 คน ที่รัฐบาลกัมพูชาประสานขอตัวโดยเข้าข่ายที่กฎหมายระบุ คือต้องรับโทษแล้ว 1 ใน 3
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบความเป็นมาเกี่ยวกับนักโทษสตรีกัมพูชาทั้งสองคนที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในประเทศไทย ตามที่นายกฯ กัมพูชาพูดถึง และยังไม่ทราบเกี่ยวกับสถานะในปัจจุบันของนักโทษทั้งสอง
“ระหว่างการเยือนกัมพูชาเป็นเวลาหนึ่งวันของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 15 กันยายนนี้ ฝ่ายไทยอาจจะขอให้ฝ่ายกัมพูชาอภัยโทษแด่สองนักโทษที่เป็นพวกกลุ่มคนเสื้อเหลืองซึ่งถูกจำคุกฐานเข้าเมืองผิดกฎหมายและจารกรรม หรือบุคคลทั้งสองอาจจะถูกส่งตัวกลับไปรับโทษต่อในประเทศไทย” ศูนย์ข่าวดืมอัมปึลกล่าว
นายวีระกับ น.ส.ราตรี ถูกกัมพูชาจับกุมในช่วงสิ้นปี 2553 ที่ชายแดนด้าน อ.อรัญประเทศ พร้อมคนอื่นๆ อีก 5 คน รวมทั้งนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งหมดได้รับการประกันตัวและต่อมาถูกตัดสินจำคุก แต่ให้รอลงอาญาและถูกปรับ ยกเว้นเพียง 2 คนซึ่งศาลกัมพูชากล่าวว่าเคยกระทำความผิดแบบเดียวกันนี้มาก่อน
ตามกฎหมายของกัมพูชา นักโทษจะต้องถูกจำคุกอย่างน้อย 2 ใน 3 จึงจะมีสิทธิขอพระราชทานอภัยโทษ แต่นายกรัฐมนตรีมีอำนาจขออภัยโทษได้ทันที เช่นกรณีวิศวกรไทยที่ถูกจับฐานกระทำผิดกฎหมายความมั่นคงในปลายปี 2552 โดยเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเที่ยวบินของนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ที่เดินทางเข้ากัมพูชาในช่วงนั้น
นายวีระถูกตัดสินลงโทษจำคุก 8 ปี และ น.ส.ราตรี 6 ปี ทั้งคู่ถูกคุมขังมาเป็นเวลาเพียง 8 เดือน ซึ่งถ้าหากปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดยังไม่มีคุณสมบัติยื่นขออภัยโทษ แต่การแลกเปลี่ยนตัวนักโทษเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้