ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- เจ้าหน้าที่ป่าสงวนฟองญา-แกบ่าง (Phong Nha - Ke Bang) จ.กว๋างบี่ง (Quang Binh) ได้พบหนูหายากชนิดหนึ่งซึ่ง ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าได้สูญพันธุ์ไปเมื่อประมาณ 11 ล้านปีมาแล้ว เป็นชนิดเดียวกับที่พบในลาวเมื่อ 4 ปีก่อน
หนูหิน หรือ (Rock Rodent) เรียกกันตามลักษณะธรรมชาติของพวกมันที่หากินและอาศัยตามซอกหินในเขตภูเขาหินปูน แขวงคำม่วนของลาว แหล่งที่นักวิทยาศาสตร์จากออสเตรเลียกับนักวิทยาศาสตร์ไทย พบมันครั้งแรกในปี 2548
หางเป็นพวงเหมือนกระรอก เท้าเป็นพังผืดยืดๆ หดๆ ได้ ซึ่งไม่มีในหนูทั่วไป มันมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Laonastes aenigmamus ตัวที่พบในเวียดนามถูกล่าออกจากป่าในเขต อ.มีงหว่า (Minh Hao) โดยราษฎรชาวรึก (Ruc) ซึ่งเป็นชนชาติส่วนน้อยในท้องถิ่น เพื่อใช้เนื้อของมันเป็นอาหาร หนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋รายงาน
นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้ เคยเชื่อกันว่าหนูชนิดนี้ได้สูญพันธุ์ไปจากโลกนานแสนนานมาแล้ว โดยค้นพบฟอสซิลของพวกมันในตอนใต้ของจีนเมื่อหลายปีก่อน
นักวิทยาศาสตร์พากันตกตะลึงเมื่อพบ "หนูหิน" หรือ "ตัวขะหยุ" หรือ "ข่าหนู" อีกครั้งหนึ่งในตลาดสดแห่งหนึ่งนอกเมืองท่าแขกของแขวงคำม่วน
ทุกคนตกตะลึงยิ่งขึ้นเมื่อไปพบอีกว่า ชาวลาวนำหนูชนิดนี้ออกมาจากป่ามากมาย หลายตัวถูกถลกหนังย่างบนเตาถ่านส่งกลิ่นหอมชวนรับประทาน ซึ่งทำให้เชื่อว่ามันจะไม่สูญพันธุ์อย่างแน่นอน.