เอเอฟพี - องค์กรคุ้มครองสิทธิมนุษยชนชั้นนำระบุวานนี้ (31 ส.ค.) ว่า กัมพูชาไม่ปกป้องคุ้มครองผู้หญิงที่วางแผนจะไปทำงานในต่างแดนเพื่อเป็นแม่บ้านมากพอ ท่ามกลางความวิตกกังวลที่เพิ่มสูงขึ้นเกี่ยวกับการกระทำทารุณในอุตสาหกรรมจ้างงานนี้
องค์กรคุ้มครองสิทธิ ฮิวแมนไรท์วอชท์ (HRW) ระบุว่า กฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวของกัมพูชาไม่ประสบผลที่จะแก้ไขปัญหาที่มีอยู่อย่างมากมายในภาคส่วนดังกล่าว ที่รวมทั้งการทำงานขัดหนี้และการใช้แรงงานภายในประเทศในผู้ที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์อย่างผิดกฎหมาย
“รัฐบาลกัมพูชาตระหนักดีว่าหน่วยงานจัดหาแรงงานนั้นควบคุมบรรดาแรงงานที่หวังจะได้งานรวมทั้งเด็กให้อยู่ภายในศูนย์ฝึกอบรมที่แน่นขนัดนานหลายเดือน คิดค่าทำเนียมสมัครงานสูงเกินไป และข่มขู่มแรงงานให้จ่ายเงินที่กู้ยืม” หนึ่งในผู้วิจัยเกี่ยวกับสิทธิเด็กของ HRW กล่าว และว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่าตกใจว่ากฎระเบียบใหม่นั้นไม่เป็นผล และไม่แม้แต่จะกล่าวถึงประเด็นปัญหาเหล่านี้ ซึ่งล้วนนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน การบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์
นายโอม เมียน รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเก่าและว่าอนุกฤษฎีกาฉบับใหม่เพิ่งมีมติรับรองไปเมื่อต้นเดือน ส.ค.มีทุกสิ่งที่จำเป็นต่อการคุ้มครองปกป้องแรงงานชาวกัมพูชาแล้ว และนายโอม เมียน ได้กล่าวปฏิเสธว่า แรงงานที่คาดหวังว่าจะไปประกอบอาชีพเป็นแม่บ้านเหล่านี้ไม่ให้ความกับรัฐที่ศูนย์ฝึกอบรม และว่าเหตุที่มีแรงงานอายุต่ำกว่าเกษณ์หลุดรอดออกไปประกอบอาชีพได้นั้นเพราะพวกเขาระบุอายุปลอมให้กับหน่วยงานจัดหางาน
ในต้นปี 2554 กลุ่มสิทธิมนุษยชนของท้องถิ่นกล่าวว่า หญิงคนหนึ่งขาหักทั้งสองข้างหลังตกลงมาจากระเบียงเพราะพยายามหนีออกจากศูนย์ฝึกอบรมในกรุงพนมเปญ และแรงงานอีกหลายสิบคนร้องเรียนว่าหนังสือเดินทางถูกยึดเมื่อเดินทางถึงมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีแม่บ้านชาวกัมพูชาทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นพวกเขายังต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างและถูกทารุณทั้งทางกายหรือทางเพศจากเหล่านายจ้างอีกด้วย
กลุ่มสิทธิมนุษยชนในมาเลเซีย กล่าวในงานแถลงข่าวที่กรุงพนมเปญเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า ในปี 2554 องค์กรได้ช่วยเหลือแม่บ้านชาวกัมพูชาแล้ว 54 คน จากนายจ้างที่โหดร้าย
กลุ่มสิทธิมนุษยชน ประเมินว่า มีหญิงชาวกัมพูชามากกว่า 50,000 คน ถูกจ้างเป็นแรงงานอยู่ในมาเลเซีย และส่วนหนึ่งอยู่ในกาตาร์และคูเวต