xs
xsm
sm
md
lg

ฝันที่เป็นจริง ครอบครัวพร้อมหน้าหลังพลัดพรากยุคเขมรแดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ขณะแซม (ที่ 2 จากซ้าย) ให้สัมภาษณ์กับพิธีกรพร้อมกับป้าของเธอ ในรายการโทรทัศน์ของสถานีโทรทัศน์บายนทีวี ในกรุงพนมเปญ. --  AFP PHOTO/Tang Chhin Sothy. </font></b>

เอเอฟพี - ทั้งกล้องโทรทัศน์และสายตาของผู้ชมในห้องส่งต่างมุ่งความสนใจไปที่พ่อกับลูกสาวที่ได้กลับมาเจอกันอีกครั้งหลังพลัดพรากไปนานร่วม 30 ปี ตั้งแต่สมัยเขมรแดงครองอำนาจ

นางแสมสะเวือน สะอื้นไห้ขณะสวมกอดพ่อของเธอที่คิดว่าจะไม่มีโอกาสได้เจอกันอีกแล้วในรายการทีวีของกัมพูชาที่ชื่อ “It's Not a Dream” หรือ “ฝันที่เป็นจริง”

“ฉันพยายามตามหาพ่อแต่ไม่มีหวัง ฉันไม่เคยคาดคิดว่าจะได้มีช่วงเวลาเช่นนี้ ฉันรู้สึกดีใจมากที่ได้พบกับพ่ออีกครั้ง” สะเวือน อายุ 42 ปี กล่าวกับพิธีกรในรายการที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ออกอากาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์บายนทีวี เมื่อเดือน ก.ค.

ครอบครัวของเธอเป็นหนึ่งในหลายหมื่นครอบครัวที่ต้องพลัดพรากจากกันระหว่างการปกครองยุคเขมรแดง ในยุคที่สังคมสมัยใหม่ถูกรื้อถอน และความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ใช่สิ่งสำคัญในการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์

นายเส็งวา บิดาของนางสะเวือน กล่าวว่า เขาเคยพยายามตามหาลูกสาวของตนเองหลายครั้ง แต่ล้มเหลวที่จะตามรอยพบ หลังจากส่งลูกไปอยู่กับป้า และหายตัวไปในช่วงความโกลาหลระหว่างไม่กี่วันสุดท้ายของการปกครอง

“ผมไม่ทราบว่าเธอหายไปที่ไหน หรือแม้แต่มีชีวิตอยู่หรือไม่” ชายชาวนาอายุ 65 ปี กล่าวกับผู้ชม พร้อมปาดน้ำตาออกจากใบหน้า

นางสะเวือน เป็นเพียงแค่เด็กตัวเล็กๆ เมื่อเขมรแดงขึ้นครองอำนาจ เมืองต่างๆ กลายเป็นเมืองร้าง เงินและโรงเรียนไร้ค่า ประชาชนถูกบังคับให้ทำงานในค่ายแรงงาน เพื่อสร้างสังคมยูโทเปีย ประชาชนมากกว่า 2 ล้านคนต้องเสียชีวิตจากภาวะขาดอาหาร ทำงานหนัก หรือถูกทรมาน ก่อนฝ่ายปกครองจะถูกขับไล่ออกจากเมืองหลวงโดยกองกำลังทหารของเวียดนาม

ผู้รอดชีวิตหลายคนใช้เวลาหลายสิบปีตามหาญาติที่สูญหาย แต่บ่อยครั้งที่การตามหาเหล่านี้มีข้อมูลเพียงเล็กน้อย และที่เหลือเป็นความทรงจำของพวกเขาเอง เนื่องจากเขมรแดงทำลายเอกสารทางการเกือบหมด

สะเวือนถูกแยกตัวออกจากพ่อของเธอ หลังแม่ของเธอเสียชีวิตเพราะความเจ็บป่วยจากการทำงานหนัก ใน จ.ตาแก้ว เมื่อปี 2520

“หลังจากแม่ของฉันเสียชีวิต ตาของฉันส่งฉันออกจาก จ.ตาแก้ว เพื่ออยู่กับป้า และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ฉันได้เห็นพ่อ” สะเวือน กล่าว

ระหว่างที่สะเวือนอาศัยอยู่กับป้าในใน จ.พระสีหนุ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ไม่นานนักก็มาถึงช่วงเวลาสิ้นสุดการปกครองของเขมรแดง ซึ่งทำให้พวกเขาต้องหลบหนีการต่อสู้กันระหว่างเขมรแดงและกองกำลังของเวียดนามที่เข้ามาในประเทศอีกครั้ง

“เมื่อมีคนบอกให้หนี ฉันก็ได้แต่วิ่งอย่างเดียวจนมารู้อีกทีว่าพลัดหลงกับป้าไปเสียแล้ว” Sem กล่าว และว่าหลังจากที่หลงกับป้า เธอก็อาศัยกับคนไม่รู้จักย้ายจากที่หนึ่งไปที่หนึ่งเรื่อยๆ

ในปัจจุบัน สะเวือน มีร้านค้าเล็กๆ อยู่ใน จ.พระสีหนุ แต่งงานและมีบุตร 6 คน แต่เธอกล่าวว่า เธอรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้างที่ไม่มีญาติพี่น้อง

เธอยังเด็กมากเกินกว่าที่จะจดจำเรื่องราวในอดีตได้ทั้งหมด และหลังจากพยายามค้นหาหลายต่อหลายครั้ง สุดท้ายเธอตัดสินใจที่จะออกรายการทีวี

“ฉันอายุประมาณ 7-8 ขวบเท่านั้น ฉันจำไม่ได้ว่าหมู่บ้านฉันอยู่ตรงไหน” สะเวือน กล่าว

เมื่อสะเวือนเล่าเหตุการณ์ของเธอ จอโทรทัศน์ที่อยู่ด้านหลังได้ฉายภาพการติดตามค้นหาพ่อของสะเวือนของทางรายการ ทีมค้นหาเดินทางจากหมู่บ้านหนึ่งไปสู่อีกหมู่บ้านหนึ่งในจ.ตาแก้ว พูดคุยกับผู้สูงอายุที่อาจจำเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวของสะเวือนได้ และตรวจสอบบันทึกของทางการท้องถิ่น

ในที่สุดพวกเขาก็พบกับพ่อของสะเวือนรวมทั้งป้าของเธอด้วย ซึ่งก็มาร่วมในรายการนี้เช่นกัน

ด้านหลังเวทีของสตูดิโอในกรุงพนมเปญ นางปรัก สุขยุค ผู้ผลิตรายการ “ฝันที่เป็นจริง” กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เธอรู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้เห็นว่าเรื่องราวของสะเวือน จบลงอย่างมีความสุข

นับตั้งแต่รายการเริ่มต้นขึ้นในปี 2553 รายการได้รับคำร้องขอความช่วยเหลือเป็นจำนวนมากให้ช่วยตามหาบุคคลที่สูญหายซึ่งย้อนหลังไปในยุคเขมรแดง

“เราช่วยเหลือสำเร็จแล้ว 10 ราย” และ ความติดของรายการมาจากรายการของเวียดนามที่ช่วยหาคนที่สูญหายไปในช่วงสงครามเวียดนาม สุขยุค กล่าว

นายยูคชาง หัวหน้าศูนย์เอกสารอ้างอิงกัมพูชา (DC-Cam) กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องปกติของชาวกัมพูชาที่จะตามหาญาติที่สูญหายไปในช่วงเขมรแดง

“ครอบครัวเป็นวัฒนธรรมอันเข้มแข็งของกัมพูชาและหลายคนไม่ต้องการเชื่อว่าญาติของพวกเขาเสียชีวิตไปแล้ว” นายชาง กล่าว

นอกเหนือจากรายการ “ฝันที่เป็นจริง” ชาวกัมพูชายังใช้วิทยุหรือสถานีโทรทัศน์ของทางการตามหาผู้ที่สูญหายด้วยเช่นกัน

ศูนย์ DC-Cam ได้รวบรวมรายชื่อผู้ที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าเสียชีวิตในยุคเขมรแดง โดยรวบรวมไว้ได้เกือบ 1 ล้านชื่อและมีแผนที่จะเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์และตีพิมพ์ภายในปี 2556

นายชางก็เป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากยุคเขมรแดง กล่าวว่า รายชื่อดังกล่าวนั้นมีความสำคัญต่อชาวกัมพูชา เพื่อให้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ทราบถึงชะตากรรมของผู้อันเป็นที่รัก เพื่อที่พวกเขาจะสามารถเริ่มต้นเยียวยาจิตใจและดำเนินชีวิตต่อไป

หลังจากรายการถ่ายทอดภาพการกลับมาพบเจอกันอีกครั้งของครอบครัวที่พลัดพรากครอบครัวนี้ สะเวือน ใช้เวลา 2-3 วันเดินทางไปพบกับครอบครัวใหม่ของพ่อและญาติๆของเธอ และว่าการได้รู้จักกับครอบครัวทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป

“ฉันมีความสุขกับชีวิตในตอนนี้ ก่อนหน้านี้ ฉันไม่มีใครเลย แต่หลังจากได้พบกับพ่อ ฉันมีความหวังที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปในอนาคต” สะเวือนกล่าว
<br><FONT color=#000033>ชาวกัมพูชาใช้วิธีขอความช่วยเหลือผ่านรายการโทรทัศน์ตามหาบุคคลที่สูญหายสมัยการปกครองเขมรแดง ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่ง นอกจากการประกาศผ่านทางวิทยุและสถานีโทรทัศน์ของทางการ. --  AFP PHOTO/Tang Chhin Sothy. </font></b>
<br><FONT color=#000033>นานกว่า 30 ปี หลังหมดหวังที่จะตามหาพ่อของตัวเองที่พลัดพรากกันตั้งแต่สมัยเขมรแดง ในที่สุดครอบครัวได้กลับมาพบกันอีกครั้ง. --  AFP PHOTO/Tang Chhin Sothy. </font></b>
กำลังโหลดความคิดเห็น