ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- พล.อ.เตียบัญ รัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา เดินทางกลับจากเยือนจีนในวันอาทิตย์ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากได้พบหารือกับผู้นำระดับสูงของจีนหลายคน รวมทั้ง พล.อ.เกลียงกวงเล่ย (Liang Guanglei) รมว.กลาโหมจีน อีกด้วย
ระหว่างการเยือนดังกล่าว พล.อ.เตียบัญ กับ พล.อ.กวงเล่ย ได้เซ็นเอกสารความตกลงเกี่ยวกับความร่วมมือด้านกลาโหมระหว่างสองประเทศ สำนักข่าวของรัฐบาลกัมพูชารายงานเรื่องนี้ในวันอังคาร โดยไม่ให้รายละเอียดอื่นใดๆ อีก สำหรับการเยือนที่ไม่ได้มีการประกาศมาก่อน
รมว.กลาโหมกัมพูชา ยังได้พบหารือกับ นายซีจิ่นผิง (Xin Jinping) รองประธานาธิบดีจีน ซึ่งฝ่ายหลังได้ยกย่องความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่พัฒนาก้าวหน้าไปไกล รวมทั้งความร่วมมือด้านการกลาโหมด้วย สำนักข่าวกัมพูชา กล่าว
นายซีเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของรัฐบาลฮุนเซน
ในเดือน ธ.ค.2552 กัมพูชาได้ประกาศเนรเทศชาวอุ้ยกูร์ราว 20 คน ที่หลบหนีการจับกุมออกนอกประเทศ โดยส่งมอบให้ฝ่ายจีนท่ามกลางเสียงคัดค้านจากโลกตะวันตกกับองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวในภายหลังว่า ชาวอุ้ยกูร์ที่ต่อต้านรัฐบาลจีนทั้งหมด กำลังติดต่อเพื่อขอฐานะลี้ภัยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ในกรุงพนมเปญ เวลาต่อมากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้หยุดส่งมอบรถบรรทุกทหารใช้แล้วจำนวน 200 คันให้กองทัพกัมพูชา เป็นการประท้วง
นายซี ซึ่งเดินทางเยือนกัมพูชาในต้นปี 2553 ได้เซ็นความตกลงกับความร่วมมือกับกัมพูชาในหลายด้าน รวมเป็นเงินช่วยเหลือกัมพูชาราว 1,200 ล้านดอลลาร์ แม้จะมีการแถลงว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเนรเทศชาวอุ้ยกูร์ของฝ่ายกัมพูชาก็ตาม
ไม่มีรายละเอียดอื่นใดอีกเกี่ยวกับการเยือนจีนของ พล.อ.เตียบัญ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมีขึ้นในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเวียดนาม กำลังตึงเครียด อันเนื่องมาจากกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งรัฐบาลฮุนเซนไม่ได้แสดงการสนับสนุนฝ่ายใด หรือให้ความเห็นใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้
ต่างไปจากลาวซึ่งเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทแนบแน่นกับเวียดนามมากเช่นกัน
ในท่ามกลางความตึงเครียด สัปดาห์กลางเดือน มิ.ย.นี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของลาวได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่งเรียกร้องให้สองฝ่ายแก้ปัญหาอย่างสันติ เคารพกฎหมายทางทะเลระหว่างประเทศ รวมทั้งเคารพหลักปฏิบัติของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในทะเลจีนใต้ที่จีนเซ็นความตกลงกับอาเซียนในกรุงพนมเปญเมื่อปี 2545
โฆษกของลาวยังแสดงท่าทีอันชัดเจนสนับสนุนการแก้ปัญหาทั้งแบบสองฝ่ายและแบบหลายฝ่ายของบรรดาประเทศที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคนี้ตามความ ซึ่งดูเหมือนฝ่ายลาวเห็นพ้องที่จะให้กลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ที่ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ร่วมเป็นสมาชิกเข้าไปมีบทบาทด้วย
.
.
ท่าทีของลาวสอดคล้องกับของฝ่ายเวียดนาม แต่ต่างไปจากของจีนที่ยืนยันจะไม่ให้ปัญหาในทะเลจีนใต้เป็นปัญหาระดับภูมิภาคและปัญหาระหว่างประเทศ
เป็นที่ทราบกันมานานว่า ท่ามกลางการเผชิญหน้ากับไทยที่มีความเหนือกว่าทางด้านการทหาร รัฐบาลฮุนเซนพยายามแสวงหาการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์จากจีนมาตลอด แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จ
ปี 2553 หลังจากสหรัฐฯ ประกาศหยุดส่งมอบรถบรรทุกทหารใช้แล้ว 200 คัน ให้กัมพูชา รัฐบาลจีนได้สนับสนุนรถบรรทุกทหารใหม่เอี่ยมชนิดต่างๆ จำนวน 250 คัน ให้กัมพูชาทันที พร้อมชุดเครื่องแบบทหารอีก 50,000 ชุด “เพื่อภารกิจในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม” ของประเทศ สำนักข่าวซินกหัวรายงานในช่วงเดียวกัน
ล่าสุด เมื่อเดือนที่แล้วจีนได้สนับสนุนกองทัพกัมพูชาเป็นรองเท้าทหารอีก 50,000 คู่
เดือน ต.ค.2553 รถถัง T-55 กับยานลำเลียงพลหุ้มเกราะที่ซื้อจากสาธารณรัฐยูเครน รวมจำนวน 100 คัน ส่งถึงกัมพูชา ยุทโธปกรณ์เหล่านี้ถูกนำไปใช้ในแนวหน้า ระหว่างการปะทะกับฝ่ายไทยในเดือน ก.พ.กับ เม.ย.ปีนี้
ในช่วงเดียวกัน ยังพบว่า กัมพูชาได้ดัดแปลงรถบรรทุกทหารที่ได้รับบริจาคจากจีนจำนวนหนึ่งไปใช้บรรทุกจรวดโจมตีแบบ BM-21 อีกด้วย
นอกจากนั้น ยังเป็นที่ทราบกันดีว่า หลายปีมานี้จีนได้สนับสนุนอาวุธเบาจำนวนหนึ่งให้แก่กองทัพกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปืนกล AK-47 กับเครื่องยิงระเบิดแบบอาร์พีจี B-40 “ลูกเบ” รุ่นใหม่ ที่ทหารกัมพูชาใช้ในการปะทะตามแนวชายแดนไทยตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมามานี้ แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีการใช้อาวุธหนักจากจีน.