เอเอฟพี - กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ของไทยที่อยู่เบื้องหลังโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกในพม่า ระบุวานนี้ (8 มิ.ย.) ว่า ประชาชนราว 10,000 คนต้องย้ายออกจากที่อยู่อาศัยเพื่อเปิดทางให้กับโครงการพัฒนาแห่งนี้
บริษัทอิตัลไทยที่รับผิดชอบการก่อสร้างและดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในโครงการพัฒนานิคมทวาย ได้วางแผนที่จะเปลี่ยนเมืองชายฝั่งที่เงียบสงบให้เป็นท่าเรือน้ำลึกพร้อมกับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมขนาด 250 ตารางกม. ยืนยันว่าโครงการดังกล่าวนี้จะต้องย้ายคนในท้องถิ่นออกจากพื้นที่ แต่รับรองว่าชาวบ้านจะได้รับการช่วยเหลือจัดหาพื้นที่อยู่อาศัยแหง่ใหม่เพื่อตั้งถิ่นฐานเป็นอย่างดี
"มีประชากรเพียงแค่ประมาณ 10,000 คนที่ต้องย้ายที่อยู่อาศัย" นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กล่าว
สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมได้ถูกหยิบยกขึ้นถึงขนาดและลักษณะของท่าเรือ เพราะพม่ายังคงขาดกฎระเบียบควบคุม โดยโครงการท่าเรือน้ำลึกระยะเวลาก่อสร้างนาน 10 ปี มูลค่าลงทุน 8,000 ล้านดอลลาร์ ยังประกอบด้วยการก่อสร้างโรงงานผลิตเหล็ก โรงงานปุ๋ย โรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงกลั่นน้ำมัน
กลุ่มท้องถิ่นระบุว่าอาจมีประชาชนมากกว่า 20,000 คน ที่อาจถูกบังคับให้ย้ายที่อยู่ ขณะเดียวกันก็มีความวิตกกังวลว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่อาจเกิดขึ้นซ้ำอีก
นายติน ออง ที่ทำงานให้กับบริษัทในพื้นที่ กล่าวว่า บริษัทตัดสินใจดำเนินการตามแนวทางของคนในท้องถิ่น และว่าชาวบ้านเพียงแค่ย้ายไปยังบ้านหลังใหม่ที่สร้างขึ้นในพื้นที่ 6 แห่งใกล้กับนิคม
"เราระมัดระวังเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่เพียงแค่เรื่องสภาพแวดล้อมแต่รวมทั้งผลกระทบต่อสังคมและวัฒนธรรมด้วย" นายติน ออง กล่าว และว่าเมืองที่สร้างขึ้นจะมีระบบสุขอนามัยที่ดีกว่าเดิม มีโรงเรียนและศาสนสถาน และชาวบ้านจะได้รับประโยชน์จากถนนที่สร้างขึ้นใหม่ด้วย
นายติน ออง ระบุว่า ในเวลานี้บริษัทกำลังเร่งสร้างที่อยู่อาศัยให้กับชาวบ้านที่ต้องย้ายที่อยู่เพราะจำเป็นต้องย้ายผู้คนออกจากพื้นที่ก่อสร้างภายในเดือนก.ค. เพราะเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนจะทำให้การก่อสร้างเป็นไปได้ยากขึ้น และเขาหวังให้โครงการนิคมทวายเป็นความสำเร็จ ที่ผู้คนในพื้นได้รับโอกาสทางเศรษฐกิจในประเทศตัวเองแทนที่การทำงานในสภาพย่ำแย่ในไทย.