เอเอฟพี - พระสงฆ์กัมพูชา และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมมือกันดำเนินการโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมช่วยเหลือตะพาบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและหายากที่สุดในโลกเพื่อให้รอดพ้นจากการสูญพันธุ์
ศูนย์อนุรักษ์ตะพาบยักษ์กระดองนิ่มใกล้สูญพันธุ์ถูกตั้งขึ้นในบริเวณวัด ใกล้ใจกลางเมืองกระแจ๊ (Kratie) บนริมฝั่งแม่น้ำโขง ด้วยความช่วยเหลือองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนานาชาติ (CI)
“ตะพาบพันธุ์นี้กำลังเผชิญกับภัยคุกคามอย่างรุงแรงในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ เราหวังให้ตะพาบเหล่านี้มีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้นเมื่อโตเต็มที่และสามารถป้องกันดูแลตัวเองได้” นายซัน ยอง จากองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสากล กล่าว และว่าศูนย์ที่ตั้งขึ้นจะมีขึ้นเพื่ออนุบาลลูกตะพาบ
ตะพาบพันธุ์นี้สามารถโตจนมีน้ำหนักได้มากถึง 50 กก.ก่อนหน้านี้ นักอนุรักษ์คิดว่าตะพาบพันธุ์นี้ใกล้สูญพันธุ์ จนกระทั่งพบอยู่แถวแม่น้ำในปี 2550 และในพิธีเปิดศูนย์อนุรักษ์ พระสงฆ์ได้สวดให้พรตะพาบเพศเมียน้ำหนัก 18 กก.และปล่อยลงสู่สระขนาดใหญ่ภายในวัด ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่นั้น โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์หวังให้ตะพาบตัวนี้พบคู่เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป
ศูนย์อนุรักษ์แห่งนี้ ยังใช้เป็นศูนย์อนุบาลลูกตะพาบอีกเกือบ 100 ตัว ที่ถูกย้ายจากรังของพวกมันเพื่อความปลอดภัย
“ในอีก 1 หรือ 2 ปี เราจะปล่อยพวกมันคืนสู่แม่น้ำ ตอนนี้พวกมันยังเล็กมากอาจถูกนกหรือปลาจับกิน” นายซัน ยอง กล่าว
ตะพาบหัวกบ (Cantor's giant soft-shelled turtle) ถูกคุกคามทั้งจากการถูกล่าและแหล่งอาศัยตามธรรมชาติที่ถูกทำลายลง สัตว์ชนิดนี้ใช้ชีวิต 95% อยู่ตามทรายหรือโคลน และถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์และพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ ในสถานะเดียวกับเสือ และแพนด้า
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัดว่าสัตว์ชนิดนี้เหลืออยู่กี่ตัว นับตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งทางกลุ่มอนุรักษ์สามารถช่วยเหลือรังตะพาบได้ 51 รัง บนแม่น้ำโขง และดูแลตะพาบฟักไข่สำเร็จแล้วมากกว่า 1,000 ตัว