.
เวียดนามเน็ต - นักวิทยาศาสตร์ทั้งของเวียดนามและต่างประเทศต่างช่วยกันหาทางออกเพื่อรักษาชีวิตเต่าศักดิ์สิทธิ์ที่อาศัยอยู่ในบึงฮว่านเกี๊ยม (Hoan Kiem) กรุงฮานอย หลังพบความผิดปกติและร่องรอยบาดแผลบนตัวเต่าที่เพิ่มมากขึ้น
ในการประชุมระหว่างประเทศเพื่อหาทางออกในการอนุรักษ์พันธุ์เต่าโบราณเป็นครั้งแรก มีขึ้นในกรุงฮานอยเมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา โดย ดร.ห่าดี่งดึ๊ก (Hà Đình Đức) ระบุว่า มีบางอย่างผิดปกติกับเต่า หลังพบว่าเต่าขึ้นมาบริเวณผิวน้ำบ่อยครั้ง และในวันที่ 14 ม.ค. บันทึกได้ว่าเต่าขึ้นมายังผิวน้ำมากถึง 14 ครั้ง พร้อมกับรอยแผลหลายรอยที่หลัง และรอยใหม่ที่บริเวณคอและกระดอง
บรรดานักวิทยาศาสตร์ชาวเวียดนามระบุว่า เต่าโบราณที่อาศัยอยู่ในบึงฮว่านเกี๊ยมนี้จำเป็นต้องนำขึ้นบกเพื่อรักษาบาดแผล แต่ผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติบางคนมองว่าการกระทำดังกล่าวควรเป็นทางออกสุดท้ายมากกว่า
"เป็นเรื่องสำคัญอย่างมากในการดูแลเต่าศักดิ์สิทธิ์ตัวนี้ ผมเสนอให้นำตัวเต่าขึ้นมาจากน้ำอย่างเร่งด่วนเพื่อตรวจสอบและรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้แย่ไปกว่านี้ และไม่ถูกคุกคามจากเต่าพันธุ์อื่นๆ ที่อยู่ในบึงเดียวกัน" ดร.ดึ๊ก กล่าว นอกจากนั้นยังได้แนะนำทางออกอื่นๆ เช่น การกำจัดเต่าญี่ปุ่น (red-eared turtles) หรือเต่าแก้มแดง ที่อาศัยอยู่ในบึง เพื่อคุ้มครองเต่าศักดิ์สิทธิ์และระบบนิเวศของบึง การตรวจสอบก้นบึงและระบบระบายน้ำจากบรรดาร้านอาหารที่ตั้งอยู่รอบๆ บึง การกำจัดขยะ ปรับปรุงคุณภาพน้ำ ขุดลอกโคลนและห้าม ประชาชนปล่อยเต่าญี่ปุ่นลงในบึง
ทางด้านนายกิมเวินวัน (Kim Văn Vạn) จากมหาวิทยาลัยการเกษตรกรุงฮานอย กล่าวว่า เต่าโบราณอาจได้รับความเจ็บปวดจากบาดแผลระหว่างขั้นตอนเคลื่อนย้าย เพราะมีอายุมากและอ่อนแอ ทั้งน้ำหนักตัวมากขึ้น แต่อาจชนเข้ากับของแข็งใต้ก้นบึงและรอยแผลที่เกิดขึ้นพวกนี้อาจแย่ลงเนื่องจากน้ำเสีย
"ทางที่ดีควรนำเต่าขึ้นมาบนฝั่งเพื่อรักษาบาดแผลที่กำลังเปื่อยและรักษาคุณภาพน้ำในบึง" นายวัน กล่าว และว่ากระบวนการการรักษาน่าจะใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน ซึ่งบรรดานักวิทยาศาสตร์ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมในการประชุมต่างเห็นชอบกับขั้นตอนดังกล่าว
(โปรดเลื่อนลงเพื่ออ่านต่อ)
.
ท่าทางจะลำบาก
2
3
4
5
ผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติ มองว่า การนำเต่าขึ้นบกอาจทำให้เต่าได้รับบาดเจ็บหรือตายได้
นายทิโมธี แมคคอร์แมค ผู้ประสานงานโครงการอนุรักษ์เต่าเอเชีย (เอทีพี) แสดงความกังวลเกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญชาวเวียดนามแนะนำ โดยเขากล่าวว่าจำเป็นที่จะต้องสังเกตบาดแผลบนตัวเต่า และการนำเต่าขึ้นจากบึงควรเป็นทางออกสุดท้าย
เนื่องจากมีการยืนยันว่าเต่าโบราณดังกล่าวเป็นเต่าตัวเดียวที่เหลือมีในเวียดนาม ดังนั้นการอนุรักษ์เต่าจึงมีความสำคัญเป็นลำดับแรก เต่าอายุมากตัวนี้อาจได้รับบาดเจ็บเพิ่มหรือตายหากนำขึ้นจากบึงเพื่อรักษาโดยไม่มีอุปกรณ์และสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญพอ แมคคอร์แมคเสนอให้มีการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญระดับอาวุโสจากนานาชาติร่วมมือในกระบวนการดังกล่าว
ดร.ไนมอล เฟอร์นันโด จากสวนสนุกโอเชียนพาร์คในฮ่องกง มีความคิดเห็นคล้ายกับนายแม็คคอร์แมค การนำเต่าขึ้นมารักษาบนบกอาจช่วยรักษาอาการบาดเจ็บของเต่าได้อย่างรวดเร็วแต่มีความเสี่ยง และการแยกเต่าออกจากสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยอาจทำให้เกิดความเครียดยิ่งขึ้น ทางออกที่เหมาะสมที่สุดคือการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของบึงทั้งหมด สภาพแวดล้อมที่สะอาดจะเป็นผลดีสำหรับเต่าและบาดแผลอาจรักษาหายไปเอง แม้จะใช้เวลานานแต่ไม่เป็นอันตรายต่อตัวเต่า
นายเลซวนราว (Lê Xuân Rao) ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกรุงฮานอย ยืนยันว่า หน่วยงานจะนำข้อคิดเห็นต่างๆ ที่สามารถช่วยอนุรักษ์เต่าไปดำเนินการโดยทันที่ เช่นการทำความสะอาดก้นบึง การปรับปรุงคุณภาพน้ำ และการย้ายท่อน้ำทิ้ง เป็นต้น
จนถึงปัจจุบัน อายุและเพศของเต่าศักดิ์สิทธิ์ตัวนี้ยังไม่สามารถระบุได้ หลายคนบอกว่าอยู่มาสัก 700 ปี แล้วเห็นจะได้ โดยอ้างอิงตำนานเรื่องเล่าของเต่าศักดิ์สิทธิ์ในบึงฮว่านเกี๋ยม แต่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า เต่าไม่สามารถมีอายุได้ยาวนานถึงขนาดนั้น
เตาชนิดกระดองแข็งทั่วไปอาจจะมีอายุยืนถึง 300 ปี แต่ชนิดกระดองอ่อน หรือ พวกตะพาบน้ำเช่นเดียวกับพันธุ์โบราณในบึงฮซ่านเกี๊ยม อาจจะมีอายุได้ 100-170 ปี.
------
(ยังหาข้อสรุปไม่ได้อยู่หลายประเด็นสำหรับเต่าศักดิ์สิทธิ์ในบึงแห่งตำนานนี้ ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า อาจจะมีเต่าอยู่ 2 ตัว เคยมีผู้เห็นตัวหนึ่งหัวมีสีออกเขียวคล้ำ กับอีกตัวหัวสีเหลืองซึ่งแตกต่างกันชัดเจน นอกจากนั้นยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับสาเหตุที่มาของบาดแผลฉกรรจ์ สื่อเวียดนามกล่าวว่า เกิดจากการกัดแทะของเต่าญี่ปุ่นหูแดงที่มีผู้นำไปปล่อยลงในบึง เป็นเต่าที่กินสารพัด เป็นภัยต่อสัตว์และพืชน้ำทุกชนิด อีกส่วนหนึ่งลงความเห็นว่า อาจเกิดจากการติดเชื้อเนื่องจากอายุมาก ร่างกายอ่อนแอ และ คุณภาพน้ำในบึงแย่ลง.—บก.)
"เต่าจักรพรรดิ":ผู้ต้องหา
6
7
8
9
เต่าฟีเวอร์
10
11
12
13
14
15
16