เอเอฟพี - เครื่องขยายเสียงที่อยู่ตามเสาไฟและบริเวณแยกต่างๆ ส่งเสียงประกาศเชิญชวนให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสภาแห่งชาติของเวียดนามที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 22 พ.ค. นี้
เสียงตามสายที่ส่งเสียงแข่งกับรถราที่วิ่งขวักไขว่ในเมืองไม่ได้มีแต่เรื่องการเมืองเท่านั้น ยังรวมไปถึงประกาศเชิญชวนให้ฉีดวัคซีน รับเงินบำนาญ หรือแม้แต่ประกาศทำความสะอาดถนน
"เสียงพวกนี้สร้างความรำคาญมาก แต่เราก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี" เจ้าของร้านค้าอายุ 50 ปี ที่อาศัยอยู่ใต้เครื่องขยายเสียงพอดิบพอดี กล่าว
เครื่องขยายเสียงเหล่านี้ถูกนำเข้ามาในเวียดนามช่วงปี 1950 เพื่อใช้แจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้าก่อนสหรัฐทิ้งระเบิดในระหว่างสงครามเวียดนาม แต่เมื่อการใช้ประโยชน์ในภาวะสงครามลดลง เครื่องขยายเสียงเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อและระบบการปกครองมากขึ้น
เสียงประกาศ "ประธานโฮจิมินห์จงเจริญ พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจงเจริญ" ที่ดังเป็นปกติถูกระงับลงเพื่อประกาศข้อความอื่นๆ แทนในช่วงสำคัญของชาติ เช่น วันประกาศอิสรภาพหรือวันครบรอบพรรค แต่ในปัจจุบันที่วิถีชีวิตของประชาชนใช้งานอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนอยู่ตลอดเวลา คงมีเพียงไม่กี่คนที่ตั้งใจฟังประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงเหล่านี้
"ฉันคิดว่าไม่มีใครสนใจแล้ว และไม่คิดว่าเครื่องพวกนี้จะใช้ได้ผล มีแต่สร้างเสียงดังเพิ่มขึ้น" เล ถิ หง็อค แอ็งห์ นักศึกษาภาควิชาธุรกิจ อายุ 22 ปี จากชานกรุงฮานอย กล่าว
สำหรับคนอื่นๆ การประกาศเชิญชวน 2 ครั้งต่อวันผ่านเครื่องขยายเสียงเหล่านี้ไม่เพียงแค่มองว่าเป็นเรื่องผิดยุคสมัยหรือดูน่ารำคาญเล็กน้อย แต่กลับมองว่าเป็นแหล่งมลภาวะทางเสียงด้วยซ้ำ
"พวกเขาเริ่มเปิดเครื่องขยายเสียงตั้งแต่เช้ามืด ตื่นกันหมดทั้งถนน" นางเจิ่น ถิ บิค ช่างตัดเสื้อ วัย 50 ปี กล่าว บ้านและร้านของเธออยู่ตรงข้ามฝั่งถนนที่มีเครื่องขยายเสียงติดอยู่และว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำความคุ้นเคยกับเสียงประกาศแต่เช้าตรู่เช่นนี้ ซึ่งโดยปกติจะประกาศประมาณ 6.30 น.
นายฝ่าม ก๊วก บั่น ผู้อำนวยการกรมข้อมูลและการสื่อสาร คณะกรรมการประชาชนกรุงฮานอย ให้สัมภาษณ์ว่า การใช้เครื่องขยายเสียงเป็นของล้าสมัย แต่เนื่องจากงบประมาณมีจำกัด ทำให้ไม่สามารถแจ้งกับประชาชนตามบ้านได้โดยตรง และในชุมชนหนึ่งในประชาชนหลายหมื่นคน
เครื่องขยายเสียงไม่เป็นเพียงแค่เครื่องมือของรัฐเท่านั้น แต่หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และสื่อกระจายภาพ ทั้งหมดล้วนเชื่อมโยงกับรัฐ ที่รายงานดัชนีเสรีภาพของสื่อประจำปี 2553 จัดให้เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 156 จากทั้งหมด 178 ประเทศ
นายฝ่าม ก๊วก บั่น ยืนยันว่าเครื่องขยายเสียงเป็นเครื่องมือสื่อสารแบบท้องถิ่น ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสื่อมวลชนของประเทศ เพียงแต่ถูกปรับใช้ให้เหมาะสมกับเมืองหรือหมู่บ้าน และว่าอุปกรณ์เทคโนโลยีอื่นๆ จะเข้ามาแทนที่ในที่สุด
ขณะที่เสียงจากเครื่องขยายเสียงสร้างความรำคาญให้กับบางคน แต่ยังมีผู้คนอีกส่วนหนึ่งเห็นว่าเครื่องขยายเสียงเหล่านี้เป็นเหมือนส่วนหนึ่งในชีวิต
"ฉันชอบฟังเสียงจากเครื่องขยายเสียงพวกนี้ วันไหนไม่ได้ยินฉันจะรู้สึกคิดถึง มันก็เพลินดีเหมือนกัน" นางคิม แท็งห์ เหวียน อายุ 51 ปี แม่ค้าหาบเร่ริมถนน กล่าว
สำหรับนักท่องเที่ยวมองว่าอุปกรณ์เหล่านี้สร้างความน่าอึดอัดอยู่ไม่น้อย และยังเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัยโฆษณาชวนเชื่อและความหวาดระแวง
"ไม่มีความจำเป็นต้องใช้การประชาสัมพันธ์ในลักษณะนี้อีกต่อไปแล้ว" นักวิเคราะห์ชาวตะวันตกที่อาศัยอยู่ในเวียดนามมานานกว่า 15 ปี กล่าว และว่ามีเหตุผลอะไรที่ต้องรักษาระบบเหล่านี้ไว้พร้อมกับสายไฟระโยงระยางไปทั่วทุกที่ หรืออาจเป็นการเตือนว่ามีคนกำลังเฝ้ามองอยู่ตลอดเวลา.