xs
xsm
sm
md
lg

นักข่าวอินเดียคว้ารางวัล “เคต เว็บบ์” จากสำนักข่าว AFP

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดิลนาซ โบกา นักข่าวอินเดีย ผู้ได้รับรางวัลเคต เว็บบ์ ไพรซ์
เอเอฟพี - ดิลนาซ โบกา ช่างภาพและนักข่าวชาวอินเดีย ได้รับรางวัลเคต เว็บบ์ ไพรซ์ จากสำนักข่าวเอเอฟพี หลังทำงานอย่างห้าวหาญ ยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในพื้นที่แคชเมียร์ของอินเดีย มูลนิธิเอเอฟพี ประกาศผล วันนี้ (16)

โบกา นักข่าวหญิงวัย 33 ปี ทำงานให้กับเว็บไซต์ข่าว แคชเมียร์ดิสแพตช์ (Kashmir Dispatch) ในกรุงศรีนคร รัฐชัมมูและแคชเมียร์ มาร่วม 1 ปี อีกทั้งยังเป็นปากเป็นเสียงแทนชาวแคชเมียร์ผ่านทาง สื่อ และเว็บไซต์ต่างชาติจำนวนมาก

รางวัลเคต เว็บบ์ ไพรซ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2008 เพื่อเป็นเกียรติให้กับ เคต เว็บบ์ เหยี่ยวข่าวสายสงครามผู้ล่วงลับของสำนักข่าวเอเอฟพี ประจำภูมิภาคเอเชีย เธอได้สร้างวีรกรรมให้กับวงการนักข่าวนานาชาติ ทั้งๆ เป็นเพศหญิง ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าวพิจารณาจากผลงานอันโดดเด่นของนักข่าวเอเชียภายในท้องถิ่น ซึ่งต้องเสี่ยงภัย หรือประสบกับสถานการณ์อันยากลำบาก เพื่อตีแผ่ความจริงในพื้นที่ของตน

ดิลนาซ โบกา จะขึ้นรับประกาศนียบัตร และเงินรางวัลจำนวน 3,000 ยูโร (ราว 130,000 บาท) ณ พิธีมอบรางวัลในฮ่องกง เธอแสดงความเห็นต่อการทำงานข่าว ว่า การติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในทุกๆ รูปแบบ ล้วนต้องเผชิญกับความยากลำบากด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ ซึ่งองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติถูกขัดขวางการทำหน้าที่

“งานข่าวของเราช่วยเปิดเผยข้อเท็ตจริงของชาวบ้านที่ไม่มีโอกาสได้พูด” ดิลนาซ โบกา กล่าว เธอสำเร็จการศึกษาจากออสเตรเลีย และเคยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับผลกระทบทางจิตใจจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อเด็กๆ ในเขตแคชเมียร์
รูปในอดีตของ เคต เว็บบ์ เหยี่ยวข่าวสงคราม ผู้บุกน้ำลุยไฟทำข่าวมาตั้งแต่สงครามเวียดนาม จนถึงสงครามอัฟกานิสถาน เธอเสียชีวิตเมื่อปี 2007 จากโรคมะเร็งลำไส้
“อินเดียอาจเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุด แต่ทางการยังต้องเรียนรู้ที่จะเคารพสิทธิพลเรือน และยินยอมให้ประชาชนมีเสรีภาพในการดำรงชีวิต การศึกษา และการพูด มากกว่านี้”

รางวัล เคต เว็บบ์ ไพรซ์ หนแรกเมื่อปี 2008 ได้มอบให้กับ มุชตาก ยูซุฟไซ นักข่าวชาวปากีสถาน จากการทำหน้าที่รายงานข่าวในพื้นที่ชายแดนระหว่างปากีสถาน-อัฟกานิสถาน ต่อมาในปี 2009 รางวัลอันทรงเกียรติสำหรับนักข่าวเอเชียนี้ได้มอบให้กับ ศูนย์การข่าวสืบสวนสอบสวนฟิลิปปินส์ (Philippine Center for Investigative Journalism) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่เสียดายชีวิต ทั้งๆ ที่ฟิลิปปินส์ เป็นหนึ่งในประเทศที่นักข่าวเสียชีวิตมากที่สุดในโลก

ทั้งนี้ เคต เว็บบ์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ในวัย 64 ปี เมื่อปี 2007 เธอเป็นหนึ่งในนักข่าวระดับหัวกะทิของสำนักข่าวเอเอฟพี และได้รับคำชื่นชมจากความกล้าหาญ ขณะติดตามรายงานสถานการณ์สงคราม และเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จากการทำงานข่าวกว่า 40 ปี แรกเริ่ม เคต เว็บบ์ สร้างชื่อกับสำนักข่าวยูพีไอ (UPI - United Press International) ในสงครามเวียดนาม ก่อนจะได้รับหน้าที่จากสำนักข่าวเอเอฟพีให้ติดตามสถานการณ์ต่างๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งอินเดีย และตะวันออกกลาง

รางวัลนี้ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการยกระดับมาตรฐานการทำงานของสื่อมวลชนทั่วโลก
ห้องทำงานของดิลนาซ โบกา ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่จะเปิดเผยการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่แคชเมียร์
กำลังโหลดความคิดเห็น