เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่พม่ากล่าวในวันอังคาร 17 พ.ค.นี้ว่า นักโทษประมาณ 17,000 คนทั่วประเทศจะได้รับการปล่อยตัว หลังประธานาธิบดีเต็งเส่งประกาศในวันจันทร์รัฐบาลจะลดโทษจำคุกลง 1 ปี ให้กับนักโทษทุกคน
เจ้าหน้าที่พม่ากล่าวว่า ในบรรดานักโทษที่จะได้รับการปล่อยตัว ส่วนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ข่าวกรองที่ถูกจับกุมหลังการปลดพลเอก ขิ่น ยู้นต์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและกองทัพในปี 2547 แต่นักโทษส่วนใหญ่คาดว่าเป็น "อาชญากร" ทั่วไป แม้ว่ากลุ่มคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจะกล่าวหาว่า พม่าควบคุมตัวนักโทษการเมืองไว้มากกว่า 2,000 คน
ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้ประกาศผ่านสถานีโทรทัศน์ในประเทศเมื่อวันจันทร์ 16 พ.ค. ว่า รัฐบาลจะลดโทษจำคุกลง 1 ปีให้กับนักโทษทุกคน ส่วนนักโทษที่ถูกตัดสินประหารเปลี่ยนเป็นจำคุกตลอดชีวิต
องค์กรคุ้มครองสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอชระบุว่า ข่าวดังกล่าวว่าเป็นเรื่องตลกเกี่ยวกับจำนวนนักโทษการเมืองในประเทศ ขณะที่สหรัฐฯ กระตุ้นให้รัฐบาลพม่าดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น พร้อมทั้งต่ออายุมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับพม่า
ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหลายรายยังคงถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมายที่คลุมเครือเป็นเวลานานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป และจนถึงขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่ามีนักโทษจำนวนกี่คนที่ถูกควบคุมตัวน้อยกว่า 1 ปี และจะได้รับการปล่อยตัว ซึ่งคาดว่าคงจะเป็นจำนวนน้อยมาก
"นี่เป็นการตอบรับที่น่าอดสูต่อการเรียกร้องของนานาชาติที่ต้องการให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองโดยทันที" นางอีเลน เพียร์สัน รองผู้อำนวยการองค์กรฮิวแมนไรท์วอช ภาคพื้นเอเชีย กล่าว
อย่างไรก็ตาม พม่าได้เริ่มปล่อยตัวนักโทษจากเรือนจำอินเส่งในกรุงย่างกุ้งแล้วประมาณ 2,600 คน ในวันอังคาร 17 พ.ค. นี้ และ เจ้าหน้าที่รายหนึ่งระบุว่า นักโทษจากเรือนจำทั่วประเทศจะได้รับการปล่อยตัวรวมประมาณ 17,000 คน รวมทั้งอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองในยุคอดีต นายกฯ ขิ่นยู้นต์ด้วย.