เวียดนามเอ็กซ์เพรส - ภายในเวลา 17 ปี พันโท เจมส์ จี ซัมวอลท์ (James G. Zumwalt) อดีตนาวิกโยธินของสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมในสงครามเวียดนาม ได้เดินทางมาเวียดนามไม่ต่ำกว่า 50 ครั้ง และสัมภาษณ์ผู้คนมากกว่า 200 คน เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาฝนเหลืองในประเทศนี้
ในการเดินทางเยือนเวียดนามครั้งที่ 51 ทหารผ่านศึกของสหรัฐฯ ผู้นี้ เขาหวนคิดถึงความทรงจำของตัวเองในห้องเงียบๆ ห้องหนึ่งในไซ่ง่อน (นครโฮจิมินห์)
ซัมวอลท์เกิดในครอบครัวที่เป็นข้าราชการทหารเป็นประเพณีสืบต่อกันมา และเมื่อเขาอายุได้ 20 ปี ก็เจริญรอยตามบิดา คือ พลเรือเอก เอลโม รัสเซลล์ ซัมวอลท์ เดินทางมายังเวียดนาม ที่ในขณะนั้นบิดาของเขากำลังหาวิธีการกำจัดพุ่มไม้เตี้ยตามแนวแม่น้ำ หลังจากบุตรชายของเขาเดินทางมาสมทบ พล.ร.อ.ซัมวอลท์ ออกคำสั่งให้บรรดาทหารใช้สารเคมีบางอย่างที่ทำให้ใบไม้หลุดร่วง
ในเวลานั้น บิดาและบุตรชายตระกูลซัมวอลท์ เชื่อว่าสารเคมีชนิดนั้นเป็นเพียงสารกำจัดวัชพืชที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ตามที่ผู้ผลิตยืนยัน แต่หลายปีต่อมาพวกเขารู้ว่าสารเคมีดังกล่าวคือ Agent Orange หรือ "ฝนเหลือง" ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง และ มีทหารอเมริกันหลายนายได้รับสารเคอันตรายนี้ จนในปี 2531 พี่ชายคนโตของซัมวอลท์เสียชีวิตจาก "ฝนเหลือง" ที่คุณพ่อของเขาสั่งให้โปรยในเวียดนามอีกคน
หลังการสูญเสียบุตรชายคนโต พล.ร.อ.ซัมวอลท์ ได้เริ่มโน้มน้าวรัฐบาลสหรัฐฯให้ยอมรับผลกระทบที่เกิดจากสารเคมีฝนเเหลืองที่มีต่อมนุษย์ และ จ่ายค่าเสียหายให้กับทหารผ่านศึกชาวอเมริกันที่ได้รับสารเคมีนี้ด้วย
ในปี 2537 ซัมวอลท์และบิดาเดินทางมาเวียดนามเป็นครั้งแรก ตั้งแต่หลังสิ้นสุดสงครามเวียดนาม เพื่อพบกับทหารผ่านศึกชาวเวียดนาม และหาทางร่วมมือกับรัฐบาลเวียดนามในการวิจัยและหาหนทางแก้ไขปัญหาที่เป็นผลกระทบจากฝนเหลือง โดยในช่วง 17 ปีที่ผ่านมา ซัมวอลท์เดินทางมาเวียดนามแล้วถึง 50 ครั้ง และสัมภาษณ์ทหารผ่านศึกแล้วมากกว่า 200 คน ทำให้มุมมองเกี่ยวกับสงครามของเขาเปลี่ยนไป
“เมื่อตอนที่พ่อของผมบอกให้ผมเดินทางมาเวียดนามกับท่านครั้งแรก ผมยืนยันหนักแน่นที่จะไม่มาที่นี่เพราะความเสียใจที่มีต่อการจากไปของพี่ชาย แต่คุษพ่อโน้มน้าวผมให้มาเรียนรู้ผู้คนที่อยู่ในแนวหน้า และการพบผู้คนเหล่านั้นทำให้ผมเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง" ซัมวอลท์ กล่าว
นายพันโทเกษียณราชการกล่าวว่า นายแพทย์ 2 คน ที่เขาได้รู้จัก คือ พลตรี ดร.เหวียน ฮวี ฟาน (Nguyen Huy Phan) และ ดร.เล กาว ได (Le Cao Dai) เป็นคนที่เปลี่ยนความเกลียดชังของเขาเป็นความเห็นอกเห็นใจ เพราะทั้งคู่ต่างประสบกับเหตุโศกเศร้าเช่นเดียวกันกับเขา คือ สูญเสียพี่ชายและน้องชาย
“ผมโชคดีมากกว่า ดร.ฟาน เพราะผมได้เจอกับพี่ชายก่อนที่เขาจะจากไป แต่ ดร.ฟาน ใช้เวลานานถึง 17 ปี ค้นหาอัฐิที่เหลืออยู่ของพี่ชาย” ซัมวอลท์ กล่าว
ซัมวอลท์ และบิดาเดินทางเยือนศูนย์ดูแลผู้พิการและเหยื่อสงคราม ได้พบกับผู้คนที่สูญเสียอวัยวะเพราะระเบิดและกับระเบิดจำนวนมาก อดีตนายทหารตัดสินใจมอบอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ช่วยเหลือให้กับทหารผ่านศึกชาวเวียดนามเหล่านี้
พท.ซัมวอลท์ยังระลึกถึงเหตุการณ์ที่ได้พบกับ นางบุ่ย ถิ แหม่ (Bui Thi Me) คุณแม่วีรสตรีชาวเวียดนามผู้หนึ่ง
“ผมไม่เคยพบผู้หญิงเช่นเธอมาก่อน ใบหน้าที่อ่อนโยนของเธอช่างตรงข้ามกับเหตุเลวร้ายที่เธอต้องพบเจอ ความเจ็บปวดจากการสูญเสียลูกชายถึง 3 คน และอวัยวะบางส่วนที่ลูกชายคนที่ 4 ของเธอต้องเสียไป กลับไม่ทำให้เธอรู้สึกเกลียดชังชายชาวอเมริกันที่ยืนอยู่ต่อหน้าเธอเลย...” ซัมวอลท์ กล่าว และว่า ความยุติธรรมสำหรับผู้หญิงคนนี้อยู่ที่ไหน เมื่อเธอต้องทุกข์ทนกับความเจ็บปวดและการสูญเสียที่มากมายเช่นนี้
ทหารผ่านศึกผู้นี้ได้พบปะกับทหารผ่านศึกชาวเวียดนามมากกว่า 200 คน และรู้สึกประทับใจอย่างมากในการพบกับพลตรีเจิ่น ฮาย ฝุ่ง (Tran Hai Phung)
ซัมวอลท์กล่าวว่าในการพบกันครั้งแรกกับพลตรีฝุ่งเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับปฏิบัติการและโครงสร้างของอุโมงค์กู๋จี (Cu Chi) นั้น พลตรีฝุ่งเปิดเผยว่า ตนเองได้รับมอบหมายให้สังหารบิดาของซัมวอลท์ในปี 2512 แต่ปฏิบัติการล้มเหลว
“ผมนั่งเผชิญหน้ากับคนที่คิดจะสังหารพ่อของผมในสงคราม แต่ผมสัมผัสมือกับเขาด้วยมิตรภาพ หลังจากพบกับพลตรีฝุ่ง ผมกลับไปที่โรงแรมและโทรศัพท์หาพ่อของผมเพื่อเล่าเรื่องดังกล่าวให้เขาฟัง” ซัมวอลท์ กล่าว
ความเปลี่ยนแปลงในมุมมองที่มีต่อสงครามเวียดนาม จากทัศนคติที่แตกต่างหลากหลายและความขัดแย้งในมุมมองทางการเมือง ซัมวอลท์เข้าใจว่ามันคือส่วนหนึ่งในธรรมชาติของสงคราม เขาตัดสินใจที่จะเขียนบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับสงครามเวียดนามเพื่อช่วยให้ชาวอเมริกันมีมุมมองที่เป็นธรรมมากขึ้น
หนังสือชื่อ “Bare Feet, Iron Will” วางจำหน่ายในสหรัฐฯ เมื่อปี 2553 และนำมาวางจำหน่ายในเวียดนาม เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา มีเนื้อหาเกี่ยวกับทหารเวียดนามในสงครามเวียดนาม และในวันที่หนังสือวางจำหน่ายในเวียดนามครั้งแรก ซัมวอลท์ได้มอบเงินจำนวน 1,000 ดอลลาร์ให้กับเหยื่อฝนเหลืองชาวเวียดนาม
เขายังวางแผนที่จะทำสารคดีเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม ร่วมกับบริษัท Florentine film studio ซึ่งหากภาพยนตร์สารคดีชิ้นดังกล่าวถูกผลิตขึ้น เขาหวังให้ผลงานชิ้นนี้เป็นเสียงสำคัญในกระบวนการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับบรรดาเหยื่อฝนเหลือง.