ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- สายการบินเจ็ทสตาร์แปซิฟิก ซึ่งเป็นสายการบินแบบต้นทุนต่ำสัญชาติเวียดนามแท้ๆ โดยรัฐบาลถือหุ้นใหญ่ หลังจากดำเนินการมาเป็นเวลาหลายปี เพิ่งจะจ้างช่างเทคนิคกับวิศวกรชาวเวียดนามเป็นครั้งแรกในปีนี้ ทั้งหมดผ่านการสอบ CSR แล้ว และจะเริ่มทำงานทันที
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋ วิศวกรชาวเวียดนาม จำนวน 17 คน ทั้งหมดจะเข้าทำงานเคียงไหล่กับวิศวกรกับทีมช่างชาวต่างชาติจำนวน 22 คน อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพิ่มพนักงานฝ่ายช่างซึ่งเป็นคนท้องถิ่นให้เป็น 50% ของพนักงานในส่วนนี้ทั้งหมด
สายการบินนี้ กล่าวว่า วิศวกรเวียดนามทั้ง 17 คน มีใบอนุญาต Cat B เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นคุณสมบัติแรกในการจะเข้าทำงานฝ่ายตรวจและซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่ออกให้โดยองค์การบริหารการบินเวียดนาม จากนั้นได้ผ่านการฝึกอบรมอย่างดี จนผ่านการสอบ CSR (Certificate Release to Service) ซึ่งดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศทั้งหมดตามมาตรฐานสากล
สายการบินนี้ยังเตรียมการเพิ่มนักบินชาวเวียดนามจากที่มีอยู่เพียง 3 คน ในปัจจุบันเป็น 10 คนในสิ้นปีนี้ เตื่อยแจ๋กล่าว
สายการบินนี้ได้เปลี่ยนชื่อจากแปซิฟิกแอร์ไลนส์ (Pacific Airlines) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของสายการบินแห่งชาติ แต่ประสบการขาดทุน เนื่องจากถูกจำกัดเส้นทางบิน ไม่ให้แข่งกับสายการบินแม่ ต่อมาได้ขายหุ้น 17% ให้เจ็ทสตาร์ ซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำของแควนตัส (Qantas) แห่งชาติออสเตรเลีย
ทางการเวียดนามได้ให้คำมั่นจะให้เจ็ทสตาร์เข้าถือหุ้นในแปซิฟิกฯ ได้ถึง 30%
ปัจจุบันสายการบินนี้ยังประสบการขาดทุน ฝ่ายเวียดนาม ระบุว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการจ้างผู้บริหารและพนักงานต่างชาติ ซึ่งรับเงินเดือนสูงและสวัสดิการค่าตอบแทนต่างๆ สูงตามมาตรฐานตะวันตก
ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมการบินในเวียดนาม มีการแข่งขันสูงมาก ปัจจุบันมีสายการบินที่เปิดให้บริการในประเทศจำนวน 4 แห่ง คือ เวียดนามแอร์ไลนส์ เจ็ทสตาร์แปซิฟิก วาสโกแอร์ (VASCO Air) กับ แอร์แม่โขง รายหลังนี้เป็นสายการบินที่เอกชนถือหุ้น 100% จำหน่ายตั๋วราคาเดียวกับเวียดนามแอร์ไลนส์ และกลับมาให้บริการอีกครั้งหนึ่งก่อนช่วงเทศกาลตรุษ แต่ลดเส้นทางลง
ยังมีสายการบินเอกชนอีก 3 แห่งได้รับใบอนุญาตแล้ว โดย อินโดไชน่าแอร์ไลนส์ ที่เปิดให้บริการในต้นปี 2551 และพับฐานไปในปลายปีเดียวกัน แต่ยังมีความพยายามจะขึ้นบินอีกครั้ง แม้จะถูกถอนใบอนุญาตไปแล้วก็ตาม
อีก 2 แห่งที่เหลือ คือ เวียดเจ็ทแอร์ กับ จ๋ายเทียน รายแรกยังไม่เคยขึ้นบินเลย นับแต่ได้รับใบอนุญาตในปี 2551 และแผนการร่วมทุนกับแอร์เอเชีย (มาเลเซีย) เมื่อปีที่แล้วไม่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงคมนาคม ส่วนรายหลังเป็นสายการบินขนส่งสินค้าได้รับอนุญาตปี 2552 แต่ยังไม่สามารถขึ้นบินได้เช่นกัน
ในเวียดนามยังมีสายการบินเอกชนอีก 1 แห่ง แต่เป็นแบบเช่าเหมาลำโดยเฮลิคอปเตอร์
ตามรายงานของสื่อทางการ อุตสาหกรรมการบินเวียดนาม จะต้องเร่งพัฒนาทรัพยาการมนุษย์ เนื่องจากบุคลากรด้านนี้จะขาดแคลนอย่างมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ในช่วง 2 ปีมานี้ สายการบินแห่งชาติเวียดนาม ได้ประกาศรับสมัครพนักงานฝ่ายต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักบิน กับช่าง และวิศวกรอากาศยานที่มีประสบการณ์
หลายปีมานี้เวียดนามแอร์ไลนส์ได้เซ็นสัญญาซื้อเครื่องบินโดยสารขนาดต่างๆ จากค่ายโบอิ้ง แอร์บัส และ เอทีอาร์ เกือบ 70 ลำ รวมทั้งเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ คือ โบอิ้ง 787 “ดรีมลายเนอร์” 16 ลำ กับ แอร์บัส A-350XWB อีก 20 ลำ
บริษัทโบอิ้งแห่งสหรัฐฯ มีกำหนดส่งมอบ B787 ล็อตแรกให้แก่สายการบินต่างๆ ในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ หลังจากล่าช้ามา 3 ปี เวียดนามก็มีกำหนดจะได้รับ 4 ลำแรก ที่เซ็นสัญญาซื้อเมื่อปี 2548 ด้วย ขณะที่แอร์บัสก็มีกำหนดส่งมอบ A321s กว่า 20 ลำ ในปีนี้เช่นกัน ทำให้จะต้องใช้พนักงานฝ่ายต่างๆ จำนวนมาก