xs
xsm
sm
md
lg

ปี 2553 กัมพูชานำเข้าไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านเกือบครึ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<bR><FONT color=#000033>ภาพแฟ้ม 7 ธ.ค.2552 นายกรัฐมนตรีฮุนเซน (กลาง) พร้อมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเดินชมเขื่อนไฟฟ้ากำจาย (Kamchay)ใน จ.กัมโป้ต (Kampot) ที่เปิดเดินเครื่องปั่นไฟหหน่วยแรก โครงการนี้ได้รับทุนก่อสร้างจากจีน อยู่ห่างจากกรุงพนมเปญไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 160 กม. ปัจจุบันจีนเข้าลงทุนสร้างเขื่อนไฟฟ้าในกัมพูชาถึง 11 แห่ง ปี 2553 กัมพูชาต้องนำเข้าไฟฟ้าถึง 42% ของความต้องการทั้งหมดจากประเทศเพื่อนบ้าน.--AFP PHOTO/Tang Chhin Sothy.</font>

ซินหัว - รายงานของรัฐบาลกัมพูชาระบุว่า ในปี 2553 ที่ผ่านมา กัมพูชาต้องนำเข้าไฟฟ้าอีก 42% ของความต้องการทั้งหมด แม้จะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าเองในประเทศแล้วก็ตาม

รายงานของกระทรวงอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และพลังงานกัมพูชาที่เผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ (20 มี.ค.) ระบุว่า ในปี 2553 กัมพูชานำเข้าไฟฟ้าประมาณ 42% จากลาว ไทย และเวียดนาม รวมทั้งหมด 225 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ประมาณ 40% และว่าในปีที่ผ่านมาการผลิตไฟฟ้าในประเทศมีทั้งหมด 2,203.18 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี จากกำลังผลิตรวม 537 เมกะวัตต์

กัมพูชามีนโยบายด้านพลังงานไฟฟ้าที่ตั้งเป้าให้กระแสไฟฟ้าเข้าถึงบ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่ชนบทให้ได้ 70% ภายในปี 2573 และในทุกหมู่บ้านภายในปี 2563 และตามการสรุปของรัฐบาลในภาคพลังงานระบุว่า อัตราการเติบโตของความต้องการด้านพลังงานไฟฟ้าในแต่ละปีของกัมพูชาอยู่ที่ 19% ขณะที่กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของประเทศมีอัตราการเติบโตของความต้องการพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ 25%

รายงานยังระบุว่า กัมพูชานำเข้าไฟฟ้าจากเวียดนามมากที่สุดประมาณ 67% ตามด้วยไทยที่ 32% และลาวอีก 1% แม้ว่ากัมพูชาจะมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนมากถึง 10,000 เมกะวัตต์ แต่ในปัจจุบันมีเพียง 10% ของศักยภาพในการผลิตที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

การไฟฟ้าแห่งชาติกัมพูชาเพิ่งจะบรรลุเป้าหมายการเข้าถึงกระแสไฟฟ้าประชาชนในประเทศเพียง 20% เท่านั้น โดยเป็นครัวเรือนในพื้นที่ชุมชนเมืองเกือบ 100% และในพื้นที่ชนบทเพียง 12.3%

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กัมพูชาพยายามอย่างหนักที่จะกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติในภาคส่วนพลังงาน

ปัจจุบันบริษัทจากจีนเข้าลงทุนในด้านพลังงานไฟฟ้าด้วยการสร้างเขื่อนไฟฟ้ามากที่สุดในกัมพูชา ด้วยจำนวนทั้งหมด 11 แห่ง ทั้งที่ดำเนินการผลิตแล้วและอยู่ในระหว่างก่อสร้าง บริษัทจากเกาหลีใต้ตามมาเป็นลำดับที่ 2 จำนวน 6 แห่ง รัสเซีย 1 แห่ง เวียดนามอีก 1 แห่ง ที่เหลือเป็นนักลงทุนในท้องถิ่น

จนถึงเวลานี้ยังมีประชาชนชาวกัมพูชาเพียงไม่กี่ล้านคนจากกว่า 14 ล้านคน ที่เข้าถึงไฟฟ้าที่จ่ายจากรัฐ นอกนั้นยังคงต้องพึ่งเครื่องปั่นไฟ แบตเตอร์รี่ และแหล่งพลังงานอื่นๆ ในชุมชนของตัวเอง

กัมพูชาระบุว่ายุทธศาสตร์ด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ คือการพัฒนาเครื่องกำเนิดไฟฟ้า การส่งผ่านและแลกเปลี่ยนพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ไม่เพียงมองแต่การนำเข้าในระยะสั้นเท่านั้น แต่รวมถึงการส่งออกพลังงานไฟฟ้าในระยะยาวด้วย

นโยบายของรัฐบาลกัมพูชาคือการพยายามที่จะใช้ประโยชน์จากศักยภาพที่ยังมีอยู่ของเขื่อนไฟฟ้าที่สามารถส่งออกพลังงานได้มากกว่า 4,000 เมกะวัตต์ในระยะยาว.
กำลังโหลดความคิดเห็น