ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- การเจรจาระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมไทย-กัมพูชา ครั้งต่อไป เช่นเดียวกันกับการเจรจาอื่นๆ ระหว่างสองฝ่ายจะต้องมีผู้แทนจากอินโดนีเซียในฐานะประธานกลุ่มอาเซียน หรือ ผู้แทนจากอาเซียนเข้าร่วมทุกครั้ง นายฮอร์นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา กล่าวถึงเรื่องนี้ระหว่างบรรยายสรุปผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ในกรุงจาการ์ตา วันอังคาร 22 ก.พ.ทีผ่านมา
นายฮง ไม่ได้ให้รายละเอียดว่า เรื่องนี้เป็นมติของอาเซียน หรือเป็นความตกลงกับฝ่ายไทยอย่างไรหรือไม่ ในขณะที่คำแถลงของรัฐมนตรีต่างประเทศ 10 ชาติ ที่ออกหลังการประชุมในวันอังคารได้เรียกร้องให้สองฝ่าย “เจราจาทวิภาคีต่อไป” โดยเร็ว โดยใช้กลไกที่มีอยู่แล้วระหว่างสองประเทศ รวมทั้งการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมการปักปันเขตแดนทางบก กับการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมชายแดน (Joint Border Commission) ระหว่างสองประเทศด้วย ซึ่งจะมีการกำหนดวันเวลาต่อไป
คำแถลงของอาเซียนไม่ได้ระบุถึง การเข้าร่วมของผู้สังเกตการณ์หรือตัวแทนจากอาเซียน ซึ่งเป็น “ฝ่ายที่สาม” แต่อย่างไร
แต่ รมว.ต่างประเทศกัมพูชา กล่าวในวันนี้ ว่า การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ รัฐมนตรีกลาโหม และ เจบีซี กับฝ่ายไทยทุกครั้งต่อไปนี้ จะต้องมีอินโดนีเซีย หรือผู้แทนอาเซียน เข้าร่วมด้วยทุกครั้ง แต่การประชุมเจบีซีจะยังไม่มีขึ้น ตราบใดที่รัฐสภาไทยยังไม่ได้รับรองผลการประชุมเจรจา 3 ครั้งก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ เป็นรายงานของสำนักข่าวเอเคพี ซึ่งเป็นของรัฐบาล
นับเป็นเรื่องใหม่เปิดเผยจากฝ่ายกัมพูชา ภายหลังการประชุมอาเซียน ที่มองว่า การประชุมในกรุงจาการ์ตาเป็นการประสบความสำเร็จครั้งสำคัญของฝ่ายตน ในขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวว่า กัมพูชาควรจะเปิดการเจรจาทวิภาคีกับไทยต่อไป
นายฮง ยังกล่าวด้วยว่า อินโดนีเซียกำลังจะส่งทหาร 30 นาย เข้าประจำการที่ชายแดนกัมพูชาและไทย ฝ่ายละ 15 นาย ตามข้อตกลงของรัฐมนตรีอาเซียน ทั้งหมดเป็นเพียงเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ เพื่อป้องกันมิให้มีการปะทะกันด้วยอาวุธ มิใช่กองกำลังรักษาสันติภาพ
กัมพูชาได้พยายามทุกวิถีทางที่ทำให้ประชาคมระหว่างประเทศ ดูเหมือนว่า ได้เกิด “สงคราม” ชายแดนกับไทย และได้เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปประจำตามแนวชายแดนสองประเทศ