ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- รัฐบาลกัมพูชาได้ส่ง “เอกสาร” ไปให้ศาลระหว่างประเทศ กรุงเฮก แล้ว ตามที่นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ประกาศในวันอังคาร 22 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า มีแต่ศาลระหว่างประเทศเท่านั้น ที่จะแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งชายแดนกัมพูชากับไทยได้ คณะสังเกตการณ์จากอินโดนีเซีย หรือกลุ่มอาเซียน แม้กระทั่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) ไม่อาจจะแก้ไขได้
ฮุนเซน ระบุดังกล่าวระหว่างปราศรัยในงานประทานปริญญาบัตร ให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยโรยัลแคมโบเดีย ทั้งนี้ เป็นรายงานของสำนักข่าวเอเคพี (Agence Kampuchean-Presse) ซึ่งเป็นของรัฐบาล
ฮุนเซนเคยพูดถึงเรื่องนี้ครั้งแรกวันศุกร์สัปดาห์ที่แล้ว โดยระบุว่า ครั้งนี้ไม่ใช่การขอให้ศาลระหว่างประเทศพิจารณาปัญหาเดิม แต่จะขอให้พิจารณาปัญหาพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร โดยรอบ ว่า ตกเป็นของกัมพูชาพร้อมกับปราสาทพระวิหาร ตามคำพิพากษาในเดือน มี.ค.2505 หรือไม่
ฮุนเซน กล่าวในวันอังคาร ว่า คณะสังเกตการณ์ของอินโดนีเซีย อาจจะช่วยลดความตึงเครียดได้ แต่จะไม่สามารถช่วยแก้ไขความขัดแย้งใดๆ ได้
สำนักข่าวของทางการ กล่าวว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากการตีความ และการใช้แผนที่กันคนละฉบับ ขณะที่กัมพูชาใช้แผนที่ที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ และกล่าวหาว่าฝ่ายไทยใช้แผนที่ที่จัดทำขึ้นเอง
ความขัดแย้งเกี่ยวกับพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร เริ่มมาตั้งแต่ศาลโลกพิพากษาให้ปราสาทตกเป็นของกัมพูชา
รัฐบาลไทยสมัยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งแม้จะยอมรับการพิพากษา แต่ก็ได้ทำหนังสือถึงศาลระหว่างประเทศกรุงเฮก คัดค้านอย่างเป็นทางการ การรวมเอาดินแดนรอบๆ ประสาทเข้าไปด้วย และยังไม่เคยมีการพิจารณาเรื่องนี้มาเป็นเวลาเกือบ 50 ปีแล้ว