xs
xsm
sm
md
lg

แผน “แบตเตอรี่ใหญ่” อนุภูมิภาค พม่าสร้างเขื่อนอิรวดี 6,000 MW

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<bR><FONT color=#000033>ต้านได้ต้านไป-- กลุ่มอนุรักษ์สภาพแวดล้อมจัดประท้วงการก่อสร้างเขื่อนฮัตจี (Hutgyi) กั้นลำน้ำสาละวินเมื่อปีที่แล้วในภาพแฟ้มรอยเตอร์ พม่าเพิ่งเซ็นสัญญากับบริษัทจีนเพื่อก่อสร้างเขื่อนมี๊ตโสนขนาด 6,000 เมกะวัตต์ กั้นลำน้ำสาขาแม่น้ำอิรวดีในรัฐกะฉิ่น ในแผนการเป็น “แบตเตอรีใหญ่” แห่งอนุภูมิภาค พม่ากำลังเจรจากับบริษัทจีน-ไทย เพื่อสร้างเขื่อนฮัตจี กั้นแม่น้ำสาละวินทั้งสายในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งบางที่อาจจะเป็นเขื่อนใหญ่ที่สุดถึง 8,000 เมกะวัตต์.</font>

ผู้จัดการ360องศารายสัปดาห์ -- รัฐบาลทหารพม่าได้เปิดเผยโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างในประเทศ เมื่อแล้วเสร็จจะมีความใหญ่โตเป็นอันดับ 6 ในโลก ในบรรดาเขื่อนชนิดคอนกรีตอัดหินด้วยกัน แต่ก็ยังไม่ใช่โครงการใหญ่สุดท้าย และ ปีนี้ก็อาจจะเรียกได้ว่า “ปีแห่งการสร้างเขื่อน”

โครงการนี้อยู่ในแผนการผลิตไฟฟ้าจนถึงปี 2563 ซึ่งจะมีการสร้างเขื่อนกว่า 80 โครงการ กำลังปั่นไฟรวมกันกว่า 40,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้พม่ากลายเป็นประเทศที่ผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนได้มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในปัจจุบันเขื่อนได้กลายเป็นแขนงการลงทุนใหญ่อันดับ 2 รองจากการสำรวจผลิตน้ำมันและก๊าซ

ในประเทศเพื่อนบ้านติดกัน ลาวได้ประกาศจะเป็น “แบตเตอรี่” แห่งอนุภูมิภาคในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่วันนั้นพม่าอาจจะเป็นแบตเตอรี่ลูกใหญ่กว่า

นายกรัฐมนตรีพม่า เต็งเส่ง เดินทางไปยังไซต์ก่อสร้างเขื่อนในวันที่ 24 ม.ค.เพื่อสำรวจโครงการ เขื่อนมี๊ตโสน (Myitsone) ที่จะก่อสร้างกั้นแม่น้ำอิรวดีทั้งสาย อยู่เหนือเมืองมี๊ตจีนา (Myitkyina) เมืองเอกรัฐกะฉิ่น ขึ้นไม่ถึง 40 กิโลเมตร

เมื่อแล้วเสร็จในปี 2564 ด้วยกำลังปั่นไฟ 6,000 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ 29,400 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี เขื่อนมี๊ตโสน จะเป็นขุมพลังงานที่ใหญ่โต หากเทียบกับไฟฟ้า 7,000 เมกะวัตต์ ที่ไทยเซ็นซื้อจากเขื่อนนับสิบแห่งในลาวจนถึงปี 2563

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ กระทรวงพลังงานไฟฟ้า กับกลุ่มเอเชียเวิลด์ (Asia World) ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหาร และบริษัทลงทุนพลังงานแห่งจีน (China Power Investment Corp) เริ่มแผ้วถางทางที่แหล่งก่อสร้างตั้งแต่ช่วงก่อนปีใหม่ เมื่อแล้วเสร็จสันเขื่อนแบบ CFRD (Concrete Face Rockfill Dam) จะมีความยาวกว่า 1,300 เมตร สูงกว่า 140 เมตร และเกิดอ่างเก็บน้ำใหญ่โตมหึมา

ตามรายงานของสื่อทางการ บริษัทก่อสร้างจากจีนและพม่าจะเริ่มผันทางไหลของแม้น้ำอิรวดีตอนบนในหน้าแล้งปีนี้

สถิติของทางการปีงบประมาณ 2553-2554 ในขณะนี้ การลงทุนก่อสร้างเขื่อนมีมูลค่าถึง 2 ใน 3 การลงทุนของต่างประเทศทั้งหมด และเป็นแขนงการลงใหญ่อันดับ 2

จากเดือน เม.ย.2553 การลงทุนแขนงไฟฟ้าพลังน้ำมีมูลค่ารวม 5,030 ล้านดอลลาร์ จากทุนต่างชาติทั้งหมด 15,900 ล้านดอลลาร์ ในนั้นเป็นการลงทุนในแขนงก๊าซและน้ำมัน 9,800 ล้านดอลลาร์ เหมืองแร่อีก 990 ล้าน เป็นอันดับ 3 ทั้งนี้ เป็นตัวเลขขององค์การสถิติแห่งชาติ

ในปี 2553 มีการเซ็นบันทึกช่วยความจำ (memorandum of understanding) 7 ฉบับ บันทึกความตกลง (memoranda of agreement) อีก 1 ฉบับ ระหว่างกรมวางแผนไฟฟ้าพลังน้ำกับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ในเดือน ก.พ.พม่าเซ็น MOA กับจีน เพื่อก่อสร้างเขื่อนขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ในรัฐชาน และ กลุ่มทู (Htoo Group) ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลเซ็น MOU อีกฉบับ เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากก๊าซในกรุงย่างกุ้ง
<bR><FONT color=#000033>กลุ่มอนุรักษ์สภาพแวดล้อมได้จัดประท้วงโครงการเขื่อนฮัตจีขึ้นในกรุงเทพฯ ในภาพแฟ้มรอยเตอร์เดือน พ.ย.2552 เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ล้มเลิกโครงการที่มี กฟผ.ร่วมทุนอยู่ด้วย ยังไม่มีการประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการนี้ทั้งหมด แต่พม่าเพิ่งจะเซ็นสัญญากับบริษัทจีนสร้างเขื่อนใหญ่อีกแห่งหนึ่งในรัฐกะฉิ่นทางตอนเหนือ.  </font>
ต่อมาในเดือน เม.ย.พม่าเซ็น MOU กับไทยเพื่อสร้างเขื่อนหัตยี (Hutgyi) ขนาด 1,360 เมกะวัตต์ในรัฐกะเหรี่ยง เซ็น MOU กับจีน สร้างเขื่อนมอไล (Mawlite) ขนาด 520 เมกะวัตต์ กับเขื่อนกะเลวา (Kalewa) ในเขตสะกาย

เดือน ก.ค.พม่าเซ็นสัญญาก่อสร้างเขื่อนงาวจันกา (Ngaw Chan Hka) ขนาด 1,055 เมกะวัตต์ ในรัฐกะฉิ่น แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์สภาพแวดล้อมในต่างแดนก็ตาม

ในช่วงปลายปี เดือน พ.ย.เดือนเดียวพม่าเซ็น MOU กับ ไทย และจีน สำรวจศึกษาเขื่อนอีก 3 โครงการ คือ เขื่อนท่าซาง 1,400 เมกะวัตต์ กั้นแม่น้ำสาละวินในรัฐชาน เขื่อนฉ่วยลี่ (3) ขนาด 520 เมกะวัตต์ กับเขื่อนเบเลง (Belin) ขนาด 280 เมกะวัตต์ ในรัฐเดียวกัน

ปัจจุบันมีเขื่อนที่ผลิตไฟฟ้าแล้วเพียง 16 เขื่อน กับโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 1 แห่ง ล่าสุด เดินเครื่องเต็มกำลังเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2553 คือ เขื่อนเยย์วา (Yeywa) ขนาด 790 เมกะวัตต์ ในเขตมัณฑะเลย์

จนถึงปลายปีที่แล้วเขื่อนชะเวจีน (Shwegyin) ขนาด 75 เมกะวัตต์ ในรัฐมอญแล้วเสร็จราว 80% เป็นหนึ่งใน 10 โครงการที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2554 ซึ่งจะทำให้เขื่อนใหม่ทั่วประเทศมีกำลังปั่นไฟรวมกัน 1,650 เมกะวัตต์ รวมกับ 2,100 เมกะวัตต์ ในปัจจุบัน

พม่ายังคงขาดแคลนไฟฟ้าอย่างหนัก ทำให้เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ คือ กรุงย่างกุ้งต้องหมุนเวียนดับไฟในช่วงหน้าแล้งทุกปี

สื่อของทางการ กล่าวว่า ไม่มีทางที่ทางการจะลงทุนเองทั้งหมด ต้องอาศัยทุนจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยและจีน ในการพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่

เขื่อนมี๊ตโสน ประกอบด้วย โรงปั่นไฟถึง 8 หน่วยๆ ละ 750 เมกะวัตต์ ได้ชื่อว่าใหญ่ที่สุด แต่สื่อของทางการรายงานในเดือย พ.ย.ปีที่แล้ว ระบุว่า พม่ากับจีนได้ตกลงจะร่วมกันสำรวจศึกษาเพื่อก่อสร้างเขื่อนใหญ่อีกแห่งหนึ่งกั้นลำน้ำสาละวินในรัฐชาน ตลอดระยะ 15 ปีข้างหน้า

เขื่อนขนาด 8,000 เมกะวัตต์แห่งนั้น จะเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าใหญ่ที่สุดในเอเชีย ด้วยเงินลงทุนราว 10,000 ล้านดอลลาร์ สื่อของทางการ กล่าว

(ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกใน “ผู้จัดการ360องศารายสัปดาห์”)
กำลังโหลดความคิดเห็น