ผู้จัดการ360องศารายสัปดาห์ — นักลงทุนอเมริกันได้ชื่อว่าเคลื่อนตัวอืดอาด แต่เมื่อสตาร์ทติดก็จะแรงและเร็วประดุจรถยนต์ที่ผลิตจากดีทรอยต์ฉันใดฉันนั้น และในวันนี้เวียดนามได้เป็นปลายทางลงทุนใหญ่ของสหรัฐฯ สภาหอการค้าอเมริกันในนครโฮจิมินห์ (Am-Cham HCMC) แจ้งให้ทางการคอมมิวนิสต์ เตรียมรับระลอกใหญ่ในปีหน้า
ตามรายงานของกระทรวงวางแผนและการลงทุน ปี 2553 เนเธอร์แลนด์พลิกขึ้นมาเป็นประเทศลงทุนมากที่สุด ในเวียดนาม ตามด้วยสหรัฐฯ กับเกาหลี แต่ความจริงแล้วเบอร์ 1 อันแท้จริงเป็นสหรัฐฯ
สองประเทศที่เคยเป็นคู่สงครามกันได้กลายมาเป็นพันธมิตรที่สนิทสนม แม้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำค่ายทุนนิยมใหญ่กับประเทศสังคมนิยมที่ยังยากดจนจะดูแปลกแยก แต่สำหรับนักลงทุนไม่มีการแบ่งแยก
ปีนี้บริษัทเนเธอร์แลนด์ได้รับใบอนุญาตลงทุนรวมมูลค่า 2,150 ล้านดอลลาร์ ในนั้น 2,140 ล้าน สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินใน จ.กว๋างนีง (Quang Ninh) ซึ่งจะลงทุนโดย AES Corp บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ
นั่นคือ การผันเงินของบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ ไปผ่านบริษัทลูกในเนเธอร์แลนด์ แม้ไม่รวมก้อนนี้นักลงทุนอเมริกันก็ยังมีโครงการอื่นๆ ในเวียดนามรวมเป็นเงินทุน 1,020 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋ (Tuoi Tre)
เดือน ม.ค.-พ.ย.ปีนี้เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเวียดนาม เพิ่มขึ้นเกือบ 10% รวมเป็นมูลค่า 9,950 ล้านดอลลาร์ เทียบกับปี 2552 และ คาดว่าตัวเลขตอนสิ้นปีจะมากกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์
แต่ นางจอยซ์ เจิ่น (Joyce Tran) ประธานสภาหอการค้าอเมริกันในโฮจิมินห์ กล่าวว่า เวียดนามควรเตรียมพร้อมรับมือให้ดี การลงทุนระลอกที่ 3 จากสหรัฐฯ จะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงเกือบทั้งสิ้น
สิ่งนี้เป็นผลจากการที่บริษัท อินเทล โปรดักส์เวียดนาม (Intel Products Vietnam) ของอินเทลคอร์ป (Intel Corp) เริ่มผลิตชิปจากโรงงานมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ในโฮจิมินห์ป้อนตลาดโลก ปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
ใครๆ ก็บอกว่า รัฐบาลเวียดนามตัดสินใจถูกต้องแล้ว ที่ดึงผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลกเข้าไปเมื่อปี 2549 เพราะอินเทลเป็นแม่เหล็กสำคัญของอุตสาหกรรมผลิตสินค้าไฮเทคต่างๆ และถือเป็นจุดเริ่มของทุนระลอกที่ 3
ปีนี้บริษัทขนาดใหญ่จากสหรัฐฯ รวมทั้ง 25 บริษัทใน 500 อันดับที่จัดโดยนิตยสารฟอร์จูน (Fortune 500) ได้ไปศึกษาลู่ทางในเวียดนามแล้ว ทั้งหมดอยู่ในอุตสาหกรรม ที่มีมูลค่าเพิ่มมหาศาลไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์ รถยนต์ หรืออิเล็กทรอนิกส์
คลื่นลงทุนระลอกแรกจากสหรัฐฯ เข้าเวียดนามในช่วงปี 2538-2543 หลังจากสองประเทศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ส่วนใหญ่เป็นบริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค
ระลอกที่ 2 เกิดขึ้นในอีก 5 ปีต่อมา ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโดยบริษัทต่างชาติที่เป็นหุ้นส่วนกับบริษัทในสหรัฐฯ และ ระลอกที่ 3 จุดพลุโดยบริษัทอินเทล ซึ่งทำให้บริษัทผลิตสินค้าอุปกรณ์อีเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ตามเข้าไป กล้องดิจิตอลกับพรินเตอร์ที่ผลิตในเวียดนามออกสู่ตลาดโลกมาหลายปีแล้ว ยุคหน้าจะใช้เทคโนโลยีสูงยิ่งกว่านั้น
หอการค้าอเมริกันได้เตือนให้เวียดนามเปิดการลงทุนในอุตสาหกรรมและบริการต่างๆ ให้กว้างออกไปอีก เพื่อใช้โอกาสนี้ตักตวงเอาทุนจากสหรัฐฯ ที่กำลังไหลบ่า เพราะการผลิตอุตสาหกรรมนั้นต้องการแรงสนับสนุนจากแขนงอื่นๆ ทั่วด้าน
ไม่กี่ปีมานี้เวียดนามได้กลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ อีกรายหนึ่งในเอเชีย มูลค่าการค้าสองฝ่ายในปีนี้คาดว่าจะทะลุ 18,000 ล้านดอลลาร์ เติบโตเร็วมากหากเทียบกับประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ 15 ปีที่แล้ว
ทุนจากสหรัฐฯ สนใจทำเลที่เรียกว่า “เขตเศรษฐกิจหลักภาคใต้” หรือ SKER (Southern Key Economic Region) ที่ครอบคลุมนครโฮจิมินห์ จ.ด่งนาย (Dong Nai) บี่งซเวือง (Binh Duong) บ่าเหรียะ-หวุงเต่า (Ba Ria-Vung Tau) เตยนีง (Tay Ninh) บี่งเฟื๊อก (Binh Phuoc) ลองอาน (Long An) กับ จ.เตี่ยนซยาง (Tien Giang)
จังหวัดเหล่านี้ ทำรายได้ให้เวียดนามราว 60% ของรายได้ทั้งหมด แอมแชมในโฮจิมินห์ กล่าว
โดยรวมแล้วนักลงทุนอเมริกันยังเป็นอันดับ 6 ในเวียดนาม ถัดจากสิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน กับเกาหลี ด้วยเงินลงทุนทั้งสิ้น 16,400 ล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกัน เวียดนามขาดดุลการค้ามหาศาลในแต่ละปี คาดว่า ปีนี้จะสูงถึง 10,660 ล้านดอลลาร์ เพราะต้องนำเข้าสินค้าทุนต่อเนื่อง
เงินลงทุนจากต่างประเทศ กับเงินที่ชาวเวียดนามโพ้นทะเลส่งกลับบ้านอีกปีละกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์ช่วยรักษาดุลชำระเงินของประเทศได้อย่างดี