ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- ทางการลาวได้ทำพิธียกช่อฟ้าใหม่พระอุโบสถวัดสีสะเกด อันเป็นส่วนหนึ่งในโครงการฟื้นฟูบูรณะวัดเก่าแก่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของนครเวียงจันทน์ ที่ผูกพันกับประวัติศาสตร์สองชาติลาว-ไทย อย่างล้ำลึก
พิธีจัดขึ้นวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา โดย พล.อ.สีสะหวาด แก้วบุนพัน กรมการเมืองพรรค ประธานแนวศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติเป็นประธานในพิธี มีประชาชนและเจ้าศรัทธา เข้าร่วมพิธีจำนวนมาก หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ใหม่ กล่าว
การปฏิสังขรณ์วัดสีสะเกดเริ่มในปี 2551 เป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองครบรอบ 450 ปี การก่อตั้งเมืองหลวงที่กำลังจะจัดขึ้นเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ในเร็วๆ นี้ นอกจากองค์พระอุโบสถแล้ว ยังมีการบูรณะกมมะเลียนโดยรอบ ซึ่งปัจจุบันใช้เก็บพระพุทธรูป และ บูรณะหอไตรปิฎก ซึ่งทั้งหมดเสื่อมโทรมลงตามกาลเวลา
ตามรายงานของสื่อทางการ การบูรณะหอไตรทั้งส่วนที่อยู่ในวัดและส่วนที่โผล่ออกไปยังริมถนนล้านช้าง แล้วเสร็จในชั้นแรก ตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีการทาสีใหม่ มุงหลังคาใหม่ และ ทำงานฐานรากใหม่ให้มั่นคงแข็งแรง
ทางการนครเวียงจันทน์ ประกาศรับบริจาคจากพุทธศาสนิกชนและบริษัทห้างร้าน เพื่อการฟื้นฟูบูรณะวัดเก่าแก่แห่งนี้
สถานทูตไทยประจำลาวเป็นหนึ่งในผู้บริจาค การทอดองค์กฐินพระราชทานโดยสมาคมไทยลาวเพื่อมิตรภาพในเดือน ต.ค.2552 ก็ได้เงินสมทบอีกจำนวนหนึ่ง ผ้าป่าสามัคคีจากไทยที่นำโดยนายธีระ สลักเพชร อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของไทยในเดือนเดียวกัน ได้ปัจจัยสมทบอีก 200,000 บาท ในนั้น 180,000 บาทได้มอบเข้าร่วมกองทุนบูรณะวัด
ระหว่างเยือนลาวอย่างเป็นทางการเดือน ส.ค.2551 นายเตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ได้มอบเงินจำนวน 40,000 บาท ให้แก่ทางการลาว เพื่อร่วมในการปฏิสังขรณ์พิพิธภัณฑ์วัดสีสะเกดด้วย
ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช วัดสีสะเกดเคยเป็นพระอารามหลวง พระเจ้าโพทิสาน พระราชบิดาของพระเจ้าไซเสดถาทิลาด โปรดฯ ให้สร้างในปี พ.ศ.2094 หรือกว่า 450 ปีมาแล้ว
ในปี 2321 สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี กองทัพราชอาณาจักรสยามที่นำโดยเจ้าพระยาจักรี (พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกในเวลาต่อมา) ได้ยกทัพไปทวงถามเครื่องราชบรรณาการจากราชอาณาจักรลาวเวียงจันทน์ และ ก่อนยกทัพกลับใน พ.ศ.2322 เจ้าพระยาจักรีที่ทรงเคยผนวชหลายพรรษา ทรงนำทหารซ่อมแซมวัดสีสะเกดเพื่อเป็นพุทธบูชา
การบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่มีขึ้นในปี 2361 โดยพระเจ้าอะนุวง ซึ่งเคยประทับในกรุงรัตนโกสินทร์เป็นเวลาหลายปีทรงออกแบบวัดตามอย่างศิลปะไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่นี่จึงเป็นวัดเพียงแห่งเดียวในเวียงจันทน์ที่พ้นจากการทำลายเมื่อปี 2371 (สมัยพระเจ้ายู่หัวรัชกาลที่ 3)
นั่นคือ เหตุการณ์ที่นักประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ เรียกว่า “การปราบปรามกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์”
ก่อนยกทัพกลับ พระยาราชสุภาวดี (ต้นสกุลสิงหเสนีย์) แม่ทัพสยาม ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมและฌาปนกิจศพทหารสยามที่เสียชีวิต ณ วัดแห่งนี้