xs
xsm
sm
md
lg

ปีหน้า..ไปทอดกฐินวัดสีสะเกดเวียงจันทน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#cc00cc>สอน (อนันดา เอฟริงแฮม) กับ น้อย (คำลี่ พิลาวง) ในฉากถวายผ้าไตรพระพุทธรูปในกมเลียนด้านทิศตะวันตกของวัดสีสะเกด ที่นี่ถูกใช้เป็นฉากหลังตอนหนึ่งของภาพยนตร์แนวรักหรรษา สบายดีหลวงพระบาง ผลงานการสร้างร่วมกันระหว่างเอกชนไทยกับลาวเมื่อปีที่แล้ว สมาคมไทยลาวเพื่อมิตรภาพมีโครงการอัญเชิญองค์กฐินพระราชทาน ไปทอดยังวัดเก่าแก่ที่สุดของนครเวียงจันทน์แห่งนี้ในปีหน้า</FONT></br>

ASTVผู้จัดการออนไลนส์-- สมาคมไทยลาวเพื่อมิตรภาพมีโครงการจะอัญเชิญกฐินพระราชทานไปทอดที่วัดสีสะเกด ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ที่สุดและมีความผูกพันกับราชอาณาจักรสยามอย่างล้ำลึกในประวัติศาสตร์

อาจจะไม่ใช่ครั้งแรกที่มีกฐินจากฝั่งไทยไปทอดที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองหลวงของลาว แต่กำลังจะเป็นครั้งแรกที่มีองค์กฐินพระราชทานไปที่วัดสีสะเกด ซึ่งพระราชวงศ์ของอาณาจักรสยามทรงมีส่วนในการฟื้นฟูบูรณะเมื่อเกือบ 200 ปีก่อน

ในช่วงหลายปีมานี้ สมาคมไทยลาวเพื่อมิตรภาพจะอัญเชิญองค์กฐินพระราชทานไปทอดยังวัดแห่งต่างๆ ในลาว ทั้งในภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ แต่เป็นครั้งแรกที่จะอัญเชิญไปยังนครเวียงจันทน์

"เรากำลังหาทุนช่วยฝ่ายลาวฟื้นฟูบูรณะหอไตรวัดสีสะเกดด้วย" นายวีระพงษ์ รามางกูร นายกสมาคมไทย-ลาวเพื่อมิตรภาพ กล่าวกับ "ASTVผู้จัดการออนไลน์" ในสัปดาห์นี้

สมาคมไทยลาวและลาวไทยเพื่อมิตรภาพ กำลังพิจารณากิจกรรมอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งช่วยหาทุนบูรณะหอไตรวัดดังกล่าว เพื่อร่วมเฉลิมฉลองครบรอบปีที่ 450 การก่อตั้งนครเวียงจันทน์ ดร.วีระพงษ์ กล่าวที่ จ.เชียงราย ภายหลังการประชุมร่วมระหว่างสองสมาคม

การพัฒนาในยุคใหม่ได้ทำให้ส่วนหนึ่งของหอไตร ยื่นล้ำออกมาบนฟุตบาท ด้านถนนล้านช้าง ซึ่งกำลังมีการบูรณะเช่นเดียวกับพระอุโบสถและกมเลียน ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ใช้เก็บพระพุทธรูปนับหมื่นองค์ และ เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งด้วย
<br><FONT color=#cc00cc>อีกฉากหนึ่งภายในกมเลียนวัดสีสะเกดเวียงจันทน์ หนุ่มลูกครึ่งออสเตรเลีย-ลาวจากประเทศไทยกับสาวลาว ก่อตำนานรักในภาพยนตร์ โรดมูฟวี่ แนวหรรษา สบายดีหลวงพระบาง ผลงานการสร้างร่วมกันระหว่างเอกชนไทยกับลาวเมื่อปีที่แล้ว</FONT></br>
<br><FONT color=#cc00cc>ภาพแฟ้มเดือน มี.ค.2551 มุมเดียวกันภายในวัดสีสะเกดที่เคยถูกใช้เป็นฉากหลังในภาพยนตร์ สบายดีหลวงพระบาง เมื่อปีที่แล้ว ในกมเลียนที่ล้อมรอบ 4 ทิศทาง ถูกใช้เป็นที่เก็บพระพุทธรูปขนาดใหญ่น้อย ซึ่งเคยมีอยู่กว่า 10,000 องค์ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงประมาณ 6,800  </FONT></br>
ระหว่างเยือนลาวอย่างเป็นทางการเดือน ส.ค.2551 นายเตช บุนนาค รัฐมนตรีต่างประเทศ ได้มอบเงินจำนวน 40,000 บาท ให้แก่ทางการลาว เพื่อร่วมในการปฏิสังขรณ์พิพิธภัณฑ์วัดสีสะเกด

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช วัดสีสะเกดเคยเป็นพระอารามหลวง พระเจ้าโพทิสาน พระบิดาของพระเจ้าไซเดสถาทิลาด โปรดฯ ให้สร้างในปี พ.ศ. 2094 หรือกว่า 450 ปีมาแล้ว

ในปี 2321 สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี กองทัพราชอาณาจักรสยามที่นำโดยเจ้าพระยาจักรี (พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกในเวลาต่อมา) ได้ยกทัพไปทวงถามเครื่องราชบรรณาการจากราชอาณาจักรลาวเวียงจันทน์ ก่อนยกกลับใน พ.ศ.2322 เจ้าพระยาจักรีที่ทรงเคยผนวชหลายพรรษา ทรงนำทหารซ่อมแซมวัดสีสะเกดเพื่อเป็นพุทธบูชา
<br><FONT color=#cc00cc>ภาพแฟ้มเดือน มี.ค.2551 มุมโปรดของบรรดานักท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะทำให้หลายคนต้องนึกถึงภายในวันพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ สิ่งปลูกสร้างภายในวัดสีสะเกดเวียงจันทน์เป็นสถาปัตยกรรมแบบรัตนโกสินทร์เกือบทั้งหมด </FONT></br>
<br><FONT color=#cc00cc>ภาพแฟ้มเดือน มี.ค.2551 พระอุโบสถศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในวัดสีสะเกดอยู่ระหว่างการบูรณะปฏิสังขรณ์ แต่ก็ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ตามปกติ ทางการนครเวียงจันทน์บูรณะวัดเก่าแก่ที่สุดแห่งนี้ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 450 ปีเมืองหลวงในปี 2553  </FONT></br>
การบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่มีขึ้นในปี 2361 โดยพระเจ้าอะนุวง ซึ่งทรงประทับในกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์เป็นเวลาหลายปี ได้ทรงออกแบบวัดตามอย่างศิลปะไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

วัดสีสะเกดจึงเป็นวัดเพียงแห่งเดียวในเวียงจันทน์ที่พ้นจากการทำลายเมื่อปี 2371 (สมัยพระเจ้ายู่หัวรัชกาลที่ 3) ในเหตุการณ์ที่นักประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์เรียกว่า "การปราบปรามกบฏเจ้าอะนุวงเวียงจันทน์"

ก่อนยกทัพกลับ พระยาราชสุภาวดี (ต้นสกุลสิงหเสนีย์) แม่ทัพสยาม ได้ทำการบูรณะซ่อมแซมและฌาปนกิจศพทหารที่เสียชีวิต ณ วัดแห่งนี้
<br><FONT color=#cc00cc>ภาพแฟ้มเดือน มี.ค.2551 ในยามเช้าอันสงบ ผู้ขับขี่ยวดยานกำลังผ่านบริเวณหอไตรปิฎกวัดสีสะเกด ที่ยื่นล้ำออกมาบนฟุตบาทด้านถนนล้านช้าง สมาคมไทยลาวเพื่อมิตรภาพกำลังหาทุนช่วยทางการนครเวียงจันทน์บูรณะปฏิสังขรณ์หอไตรที่สร้างเมื่อเกือบ 200 ปีมาแล้ว</FONT></br>
<br><FONT color=#cc00cc>ภาพแฟ้มเดือน มี.ค.2551 นักท่องเที่ยวจากเวียดนามทะยอยเดินออกประตูด้านหน้าวัดสีสะเกด ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ที่มีความผูกพันใกล้ชิดกับประเทศไทยมากที่สุดแห่งหนึ่งทางด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม</FONT></br>
ในกมเลียนที่ล้อมรอบพระอุโบสถทั้ง 4 ด้าน มีพระพุทธรูปองค์เล็กและใหญ่ที่ประดิษฐ์ด้วยเงิน ดินเผา ไม้ หินสลัก ประทายเพชรและ อื่นๆ ซึ่งข้อมูลของทางการระบุว่าครั้งหนึ่งในพิพิธภัณฑ์วัดสีสะเกดเคยมีพระพุทธรูปรวมทั้งหมด 10,136 องค์

วัดแห่งนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชลาว ซึ่งในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นประธานองค์การพุทธศาสนสัมพันธ์

ในเดือน มี.ค.2551 ทางการนครเวียงจันทน์ได้ประกาศฟื้นฟูบูรณะวัดสีสะเกดครั้งใหญ่ ในโอกาสครบรอบปีที่ 190 การก่อสร้าง (ครั้งใหม่) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมฉลองครบรอบ 450 ปีนครหลวงในปี 2553 นี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น