ASTVผู้จัดการรายวัน-- บริษัทภูเบี้ยมายนิ่ง (Phu Bia Mining) กำลังจะเสนอต่อรัฐบาลลาวเร็วๆ นี้ แผนการผลิตที่เหมืองแห่งใหม่ในเขตเมืองไซสมบูน แขวงเวียงจันทน์ ซึ่งเชื่อว่ามีทองคำมากถึง 1,100,000 ออนซ์ กับแร่เงินอีกปริมาณมหาศาลและคาดว่าจะต้องลงทุนราว 150 ล้านดอลลาร์
PBM ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกลุ่มแพนออสเตรเลียรีสอร์สเซส หรือ "แพนออส" (PanAust Ltd) เปิดเผยเรื่องนี้ในคำแถลงฉบับหนึ่งซึ่งออกวันอังคาร (30 มี.ค.) ที่ผ่านมา ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิืมพ์ "ประชาชน"
PBM กำลังจะยื่นแผนการผลิต แผนการก่อสร้าง กับผลศึกษาความเป็นไปได้ต่อกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ พร้อมกับเสนอแผนการป้องกันแก้ไขผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ให้กระทรวงทรัพยากรแหล่งน้ำและสภาพแวดล้อมพิจารณาในเร็วๆนี้ คำแถลงอ้างการเปิดเผยของนายเฟรด เฮสส์ (Fred Hess) ในงานค็อกเทล ที่จัดขึ้นในนครเวียงจันทน์ในวันอังคาร
เหมืองทอง-เงินแห่งใหม่ที่บ้านห้วยทราย อยู่ห่างจากเหมืองภูคำซึ่งเป็นเหมืองทองแดง-ทองคำของบริษัทไปทางทิศตะวันตกราว 25 กิโลเมตร เชื่อว่าจะผลิตทองคำได้ 100,000 ออนซ์ กับเงินอีกราว 700,000 ออนซ์ต่อปี อย่างน้อยตลอด 8 ปีข้างหน้า คำแถลงระบุ
แผนการจัดเตรีมงานของบริษัทได้รับอนุมัติจากกระทรวงทรัพยากรแหล่งน้ำฯ เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากจะต้องรีบหาทางป้องกันน้ำท่วมจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนน้ำงึม 2 ที่เริ่มเก็บกักน้ำในเดือนนี้ เหมืองแห่งใหม่ที่บ้านห้วยทรายจะทำรายได้ให้แก่ลาวอีกจำนวนมาก
ในช่วงก่อสร้างคาดว่า จะต้องจ้างแรงงานราว 600 คน และเมื่อเริ่มการผลิตจะต้องจ้างพนักงานและแรงงานระดับต่างๆ อีกราว 500 คน คำแถลงกล่าว
จนถึงปัจจุบันแพนออสลงทุนเพื่อสำรวจและพัฒนาแร่ธาตุในลาวรวมเป็นเงินกว่า 500 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นเจ้าของสัมปทานเหมืองภูเบี้ยและภูคำ และกำลังสำรวจความเป็นได้ของเหมืองทองแดง-ทองคำ อีกแห่งหนึ่ง
เหมืองห้วยทรายกำลังจะเป็นเหมืองที่ผลิตทองคำ ทองแดง และแร่เงินแห่งที่ 4 ในลาว ถัดจากเหมืองเซโปนในแขวงสะหวันนะเขต เหมืองภูเบี้ย และภูคำ ซึ่งปัจจุบันเหมืองสองแห่งหลังนี้ อยู่ในแขวงเวียงจันทน์
โดยทั่วไปทองคำกับแร่เงินจะเป็นผลพลอยได้จากการผลิตทองแดงตามเหมืองต่างๆ ในลาว ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขปริมาณทองแดงที่คาดว่าจะผลิตได้ในเหมืองแห่งใหม่
ตามรายงานของสำนักข่าวสารปะเทดลาวก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา เหมืองเซโปนเพียงแห่งเดียวทำรายได้ให้รัฐบาลแล้วเกือบ 400 ล้านดอลลาร์ ทั้งในรูปค่าภาคหลวง เงินภาษีรายได้ และส่วนแบ่งจากการเป็นหุ้นส่วน
นอกจากนั้นราษฎรในท้องถิ่นอีกหลายพันคน ได้รับประโยชน์โดยตรงจากแผนพัฒนาต่างๆ จากบริษัทเจ้าของสัมปทาน ที่จะต้องปฏิบัติภายใต้สัญญาที่ทำกับรัฐบาล.