ผู้จัดการ360องศารายสัปดาห์-- บริษัทเหมืองแร่ยักษ์ใหญ่ของจีน กำลังไล่ซื้อกิจการเหมืองทั่วโลก เหมืองทอง-ทองแดง 3 แห่งในลาวที่ถือหุ้นใหญ่โดยบริษัทเหมืองออสเตรเลียไม่พ้นมือ ตกเป็นเหยื่อความหิวกระหายทรัพยากรอย่างไม่สิ้นสุดของจีนแผ่นดินใหญ่
การไล่ซื้อบริษัทที่เป็นเจ้าของเหมืองทองเซโปนใกล้บรรลุ ขณะเดียวกันบริษัทจีนได้รุกคืบเข้าซื้อกิจการของแพนออสเตรเลียนรีสอร์สเซส (Pan Australian Resources) เจ้าของเหมืองภูเบี้ยและภูคำในภาคเหนืออีกด้วย
บริษัทเหมืองยักษ์ใหญ่ของจีนอีกแห่งหนึ่งกำลังสำรวจแหล่งแร่บอกไซต์ใหญ่ที่สุดของลาวในสามแขวงภาคใต้ อีกนับสิบบริษัทกำลังมองหาสินแร่ล้ำค่าในดินแดนของลาว ถ้าหากการฮุบเหมืองทองแดง-ทองคำ ทั้งสามแห่งประสบความสำเร็จ จีนก็จะเปลี่ยนฐานะที่เป็นเพียงตลาดรับซื้อ ไปเป็นผู้ผลิตเพื่อบริโภคไปพร้อมๆ กัน
สถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกได้ทำให้ราคาทองกับทองแดงตกฮวบลงในปลายปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลกระทบถึงบริษัทออสเตรเลีย ทำให้ต้องจัดการเรื่องการเงินกันใหม่ ต้องขายกิจการไปบางส่วน เพื่อหลีกเลี่ยงการล้มละลาย
บริษัทมินเมทัลส์ (China Minmetals Non-ferrous Metals Co Ltd) หรือ Minmetals ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองแร่ใหญ่อันดับ 2 ของรัฐบาลจีนได้ การเจรจาซื้อกิจการของบริษัทออซมิเนอรัลส์ (OZ Minerals) ตั้งแต่ต้นปี 2552
นั่นคือ บริษัทอ็อกเซียน่ารีสอร์เซส (Oxiana Resources) ในอดีต ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทล้านช้างมิเนอรัล (Lane Xang Minerals) เจ้าของเหมืองเซโปน (Sepon Mine) แขวงสะหวันนะเขต ซึ่งเป็นเหมืองทอง-ทองแดงแห่งแรกและใหญ่ที่สุดในลาว
หลังการเปลี่ยนแปลงในบริษัทแม่ที่ออสเตรเลีย บริษัทในลาวก็ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น OZ Lane Xang Minerals หรือ OZLXM
เหมืองแห่งนี้ส่งรายได้เข้ารัฐติดต่อกันเป็นปีที่สามแล้ว ทั้งในรูปของค่าภาคหลวง เงินปันผลและภาษีเงินได้ต่างๆ และ ยังทำให้สินแร่กลายเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของประเทศจนถึงปัจจุบัน โดยจีนเป็นตลาดใหญ่
หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ใหม่ของลาวรายงานในต้นเดือน เม.ย. ระบุว่าฐานะการเงินของ OZ Lane Xang Minerals ย่ำแย่มาตั้งแต่ปลายปี 2551 เนื่องจากความยุ่งยากในการปรับโครงสร้างหนี้และการขอกู้ใหม่ ซึ่งสาเหตุใหญ่เกิดจากโครงสร้างรายได้ของบริษัทที่เปลี่ยนไป เมื่อราคาทองคำและทองแดงในตลาดโลกตกต่ำลง
ผู้บริหารของ OZLXM ได้ยืนยันกับทางการลาวว่า การเปลี่ยนเจ้าของบริษัทจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อพนักงาน ผลประโยชน์ของรัฐ และ ประชาชนในเขตเมืองวีละบูลี เจ้าของพื้นที่ ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากโครงการเซโปนตามสัญญา
ก่อนหน้านั้น OZLXM ได้ปลดพนักงานเกือบ 60 คน โดยให้เหตุผลว่าเป็นผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก
อย่างไรก็ตามเหมืองเซโปนเป็นเพียงส่วนประกอบอันน้อยนิดในการเจรจาซื้อกิจการรวมเป็นมูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียหรือประมาณ 960 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทรัพย์สินภายใต้การเจรจาประกอบด้วย โครงการเหมืองหลายแห่งทั้งในออสเตรเลียและในประเทศอื่นๆ
การเจรจาเริ่มมาตั้งแต่เดือน มี.ค.-เม.ย.ปีนี้ แต่เนื่องจากทั้งผู้ซื้อและผู้ขายล้วนเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต้นทาง ซึ่งจะต้องได้รับอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสองประเทศ คาดกันว่าจะสรุปได้ภายในเดือน มิ.ย.นี้
สำหรับลาว สื่อของทางการรายงานว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงแผนการและการลงทุน จนถึงกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ ไม่ขัดข้องต่อการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่เหมืองทอง-ทองแดงเซโปน
แต่ในขณะที่การเจรจาซื้อขายเหมืองเซโปนกำลังดำเนินอยู่นั้น ในปลายเดือน พ.ค. บริษัทจีนอีกแห่งหนึ่งคือ กว่างตง ไรซิ่ง แอสเซ็ต แมเนจเม้นต์ (Guangdong Rising Asset Management) หรือ Gram ก็ได้ประกาศการขอซื้อหุ้น 19.9% ของแพนออสต์ (PanAust) หรือ แพนออสเตรเลียนรีซอร์สเซส
บริษัทเหมืองทอง-ทองแดงของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเจ้าของเหมือง 2 แห่งในลาว กำลังประสบปัญหาการเงินอย่างหนักเช่นเดียวกับ OZ Minerals และกำลังระดมทุน 358 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (278.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ปรับโครงสร้างหนี้ และ เพื่อเป็นทุนดำเนินกิจการ
การเข้าซื้อหุ้นของ Gram ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทลงทุนที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของยังต้องรอการอนุมัติเห็นชอบจากทางการออสเตรเลีย คือ คณะกรรมการทบทวนการลงทุนของต่างชาติ เช่นเดียวกันกับกรณีของกลุ่มมินเมทัลส์
บริษัทจากจีนอีกแห่งหนึ่งกำลังทุ่มเงินราว 19,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเข้าเป็นหุ้นส่วนกิจการของบริษัทเหมืองแร่ริโอทินโต (Rio Tinto) ในออสเตรเลีย ขณะที่หลายฝ่ายเริ่มเป็นกังวลว่า จีนกำลังจะเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดราคาสินแร่ของออสเตรเลียทั้งหมด
แพนออสเตรเลียฯ นั้นเป็นเจ้าของโครงการเหมืองแร่ในประเทศไทยอย่างน้อย 2 แห่ง ขณะเดียวกันก็เป็นเจ้าของโครงการเหมืองภูเบี้ยแขวงเซียงขวางกับเหมืองภูคำในแขวงเวียงจันทน์ที่อยู่ติดกัน ซึ่งเป็นเหมืองทองแห่งที่สองและสามของประเทศ
บริษัท PanAust ประสบปัญหาการเงินมาตลอด 10 ปีก่อนหน้านี้ ทำให้การดำเนินโครงการภูคำล่าช้าไปด้วย ขณะที่เหมืองภูเบี้ยมีแผนการจะเริ่มผลิตและส่งออกเมื่อปีที่แล้ว ทางการลาวถือหุ้นอยู่เพียง 10% ในเหมืองแห่งนี้
ถ้าหาก Gram กับ PanAust สามารถตกลงกันได้ ก็จะทำให้ออสเตรเลียพ้นสภาพจากการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเหมืองในลาว ขณะที่บริษัทเหมืองแร่จากจีนกำลังแผ่สาขา เพื่อเป็นเจ้าของขุมทรัพยากรอันอุดมในดินแดนของประเทศนี้แทน
เดือน ก.ย.2551 บริษัท SLACO (Sino-Laos Aluminum Corp) จากการร่วมทุนระหว่างบริษัทเหมืองแร่ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของจีนกับบริษัทอิตาเลียนไทยดีเวลล็อปเม้นต์จำกัด (มหาชน) ของไทย ได้เซ็นสัญญากับทางการลาวเพื่อเริ่มการผลิตแร่อะลูมินา (Alumina) อันเป็นสินแร่ล้ำค่าที่นับวันหายาก ใช้ผลิตอะลูมีเนียม
โครงการเหมืองแร่กับโรงงานมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์ จะคลุมพื้นที่สัมปทาน 14,500 เฮกตาร์ (เกือบ 1 แสนไร่) ในแขวงจำปาสักกับเซกอง ถลุงบอกไซต์เป็นอะลูมินาได้ปีละ 500,000 ตัน นี่คือสินแร่ที่จะนำไปใช้ผลิตวัสดุอลูมิเนียมต่างๆ ซึ่งทั่วโลกมีความต้องการอย่างสูง
การสำรวจทางธรณีศาสตร์ทำให้เชื่อว่า ภาคใต้ของลาวเป็นหนึ่งในสามหรือห้าแหล่งในโลกที่มีบอกไซต์อยู่มากที่สุด แหล่งที่มีสินแร่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 500,000 เฮกตาร์ (3,100,000 ไร่เศษ) ใน 4 แขวงซึ่งรวมทั้งสาละวันกับอัตตะปือด้วย
ตามรายงานของสื่อทางการลาวปัจจุบันมีบริษัทเหมืองแร่ใหญ่น้อยจากจีนราว 10 แห่งกำลังสำรวจและผลิตแร่เศรษฐกิจล้ำค่าหลากชนิดในลาวตั้งแต่ตอนใต้สุดจนถึงตอนเหนือสุดของประเทศ.