xs
xsm
sm
md
lg

ทุนจีนหนุนเขมรผลิตข้าวส่งออก ให้กู้ $300 ล้านจัดน้ำเข้านา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<bR><FONT color=#3366ff>คภาพถ่ายวันที่ 25 พ.ย.2552 ถ่ายจากรถโดยสาร เห็นผืนนาใน จ.แก๊บ (Kep) กว้างไกลสุดสายตา ขณะที่ชาวนา เริ่มเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ที่นี่อยู่ห่างจากจากชายแดนเวียดนามเพียง 20 กม.เศษ กัมพูชายังมีพื้นที่สำหรับปลูกข้าวอีกมากมาย รอเพียงระบบชลประทานที่ทันสมัย ประเทศนี้ประกาศจะเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่เทียมบ่าประเทศเพื่อนบ้านภายในปี 2558 </FONT></bR>

ผู้จัดการ360องศารายสัปดาห์—ด้วยเงินกู้จากจีนกับเงินกู้จากแหล่งอื่นอีกจำนวนหนึ่งรวมประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ กัมพูชากำลังจะสร้างขยายระบบชลประทานอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ครอบคลุม 70% ของผืนนาใน 2 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งจะช่วยให้ผลิตข้าวได้มากขึ้นอีกหลายเท่า และ หมายถึงส่งออกได้มากขึ้นด้วย

นายกรัฐมนตรีกัมพูชาฮุนเซนประกาศเรื่องนี้ในสัปดาห์ต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ระหว่างทำพิธีเปิดใช้ระบบชลประทานโครงการหนึ่งใน จ.พระตะบอง จังหวัดใหญ่อันดับ 2 ซึ่งเป็นเขตอู่ข้าวสำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ

"เรากำลังจะเปลี่ยนสนามรบในอดีต ให้เป็นแหล่งเพาะปลูกอันกว้างขวาง" ฮุนเซนประกาศผ่านสถานีโทรทัศน์กัมพูชา (TVK) ที่รับชมได้ในกรุงเทพฯ โดยจานดาวเทียม

ตามตัวเลขของกระทรวงเกษตรกัมพูชา ปัจจุบันทั้งประเทศมีพื้นที่นาข้าว 2.6 ล้านเฮกตาร์ (1 เฮกตาร์= 6.25 ไร่) รัฐบาลจะเพิ่มให้เป็น 3 ล้านเฮกตาร์ภายในปี 2558 การชลประทานที่ทั่วถึง จะทำให้เพิ่มผลิตจาก 2.6 ตัน (ข้าวเปลือก) ให้เป็น 3 ตันต่อเฮกตาร์ได้ และหากเป็นไปตามนี้ กัมพูชาก็จะผลิตข้าวได้ 12.25 ล้านตันต่อปี

"มีพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ได้ผลผลิตต่อเฮกตาร์มากขึ้น และทำนาสองฤดู วันนั้นกัมพูชาจะผลิตข้าวได้ถึง 15 ล้านตันต่อปี" ดร.จัน สะรุน รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรกล่าวผ่าน TVK ในงานเดียวกัน

รัฐมนตรีผู้นี้กล่าวอีกว่า รัฐบาลกำลังหาทางขยายพื้นที่การเกษตรอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตสมรภูมิเก่าทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับทางตะวันตกของประเทศ โดยไม่ต้องรอให้เก็บกู้ระเบิดแล้วเสร็จเสียก่อน

ส่วนพื้นที่รอบๆ ทะเลสาบใหญ่ (Tonle Sap) ยังขยายพื้นที่นาข้าวได้อีกราว 800,000 เฮกตาร์ บริเวณนี้ผืนดินอุดมที่สุด ให้ผลผลิตสูงสุด

การสร้างถนนหนทางและขยายระบบชลประทานอย่างกว้างขวางในช่วงหลายปีมานี้ เป็นผลงานสำคัญที่ทำให้ชาวกัมพูชาเลือกพรรครัฐบาลเข้ารัฐสภาจนได้เสียงข้างมากอันเด็ดขาดในการเลือกตั้งปี 2551

นโยบายเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ เป็นที่ประทับใจของผู้คนในเขตชนบาท ซึ่งเกือบร้อยละ 90 ประกอบอาชีพเป็นชาวนา และเกษตรกรแขนงต่างๆ

นโยบายเพิ่มผลผลิตข้าวของกัมพูชา ไม่เพียงแต่สร้างความสนใจให้แก่จีนเท่านั้น รัฐบาลคูเวตกับกาตาร์ซึ่งเป็นเศรษฐีน้ำมันในตะวันออกกลาง ได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางเข้าออกกัมพูชาหลายครั้งไม่กี่ปีมานี้ ศึกษาโอกาสในการลงทุนผลิตข้าว

ปี 2551 รัฐบาลคูเวตได้เงินกู้กัมพูชา 546 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างระบบชลประทาน กับเขื่อนเอนกประสงค์อีก 1 แห่ง และทำถนนเข้าสู่ผืนนา ใน จ.กัมปงจาม และ พระตะบอง คูเวตยังมีแผนจะเข้าลงทุนอีกราว 200 ล้านดอลลาร์ปลูกข้าวในกัมพูชาโดยตรง หนังสือพิมพ์ของคูเวตรายงานปลายปีที่แล้ว

ในเดือน ธ.ค.2552 กัมพูชาได้เซ็นสัญญาเงินกู้กับจีนรวม 850 ล้านดอลลาร์ นับเป็นเงินกู้ก้อนใหญ่ที่สุด ตั้งแต่เคยได้รับความช่วยเหลือ ในปัจจุบันจีนยังเป็นผู้ลงทุนมากที่สุดในกัมพูชา และ เป็นประเทศผู้บริจาครายใหญ่ที่สุด

นอกจากนั้นจีนยังให้คำมั่นจะขยายวงเงินกู้ เพื่อช่วยกัมพูชาพัฒนาการเกษตรต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการก่อสร้างระบบชลประทานในเขตอู่ข้าวรอบๆ กรุงพนมเปญ คือ เปรย์แวง (Prey Veng) กับ จ.โพธิสัตว์ (Pursat) และ จ.อุดรมีชัย (Oddor Meanchey) ทางตอนเหนือ

นายเกียตชนรองนายกฯ และ รัฐมนตีกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังกล่าวว่า ยังมีญี่ปุ่นกับเกาหลีอีก 2 แรงที่ให้เงินกู้ช่วยกัมพูชาพัฒนาการเกษตรและการผลิตข้าวส่งออก

ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีเกษตรกัมพูชาเคยประกาศจะขึ้นเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกในปี 2558 เทียมไหล่กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์หนึ่งของโลก และ เวียดนามอันดับ 2

แต่นายสะรุนกล่าวว่า ถึงแม้จะยังไม่สามารถเป็นผู้ส่งออกลำดับต้นๆ ได้ ในปี 2558 กัมพูชาก็จะมีข้าวส่งออกอย่างเหลือเฟือ ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยตั้งเป้าไว้ที่ 8 ล้านตัน เป็นรองเพียงประเทศไทยเท่านั้น

อย่างไรก็ตามรายงานของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ระบุว่า ปี 2550 กัมพูชาส่งออกข้าว 450,000 ตันเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 ตันในปี 2551

ปีการผลิต 2552-2553 นี้ กัมพูชาผลิตข้าวได้ 7.286 ล้นตัน ซึ่งจะทำให้มีข้าวเหลือบริโภคภายในและส่งออกได้ 3.1 ล้านตัน ยังห่างไทยกับเวียดนามอีกหลายชั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น