ASTVผู้จัดการรายวัน-- ทางการลาวกำลังอพยพโยกย้ายราษฎรเกือบ 4,000 คนออกจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำและอาณาบริเวณที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนเซกอง 4 ในแขวงเซกอง ทางตอนใต้ขอประเทศ ซึ่งเป็นการอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่กรณีเขื่อนน้ำเทิน 2 เป็นต้นมา
เรื่องราวดังกล่าวเปิดเผยโดยเจ้าหน้าที่ทางการแขวง ซึ่งรายงานต่อรองนายกรัฐมนตรี "ผู้ประจำการรัฐบาล" นายสมสะหวาด เล่งสะหวัด ที่ไปเยือนแขวงเซกองสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์ "ประชาชน" หนังสือพิมพ์รายวันของศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาว
เขื่อนเซกอง 4 กำลังจะส่งผลกระทบต่อราษฎรใน 13 หมู่บ้าน รวม 556 ครอบครัว กับ 551 หลังคาเรือนในเขตเมือง (อำเภอ) กะลืม รวมจำนวนทั้งสิ้น 3,935 คน เป็นสตรี 1,909 คน สื่อของทางการอ้างการเปิดเผยของนายขันติ สีละวงสา เจ้าเมืองและผู้รักษาการเลขาธิการพรรคสาขาเมือง ในวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา
นอกจากนั้นยังมีราษฎรจำนวนอีกหนึ่งในเขตเมืองเดียวกัน ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่ ที่บริษัทเอกชนลาวเป็นผู้ได้รับสัมปทาน ตามนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของพรรคและรัฐ และ จะต้องอพยพโยกย้ายราษฎรเหล่านั้นออกไปเช่นกัน หนังสือพิมพ์ "ประชาชน" รายงานโดยไม่ได้ระบุจำนวนราษฎรในส่วนนี้
แขวงเซกองได้เสนอต่อรัฐบาลจะอพยพราษฎรทั้งหมดไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่แห่งใหม่ โดยรวมหมู่บ้านต่างๆ เข้าด้วยกันให้เป็นหมู่บ้านที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจำนวน 3 แห่ง รองนายกฯ ลาวได้สั่งการให้ทางการท้องถิ่นศึกษาความเป็นไปได้ด้านพื้นที่การผลิต "เพื่อให้ประชาชนหันไปประกอบอาชีพการผลิตแบบใหม่" ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สื่อของทางการกล่าวโดยไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใดอีก
นายขันติกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการปรึกษาหารือกับราษฎรที่ได้รับผลกระทบ ทุกฝ่ายเข้าใจอย่างดีเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐ แต่แผนอพยพโยกย้ายราษฎรแต่ยังขาดการสนับสนุนเงินงบประมาณ ทำให้การดำเนินงานล่าช้าออกมา
ในช่วงปี 2548-2551 บริษัทไฟฟ้าน้ำเทิน 2 ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเอกชนฝรั่งเศส ไทยและรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าของทางการได้อพยพโยกย้ายราษฎรราว 6,000 คนไปอาศัยในแหล่งใหม่ บริษัทผู้ลงทุนได้จัดสร้างหมู่บ้านสร้างระบบสาธารณูปโภค จัดหาที่ดินทำกิน ตลอดจนโรงเรียนและสถานพยาบาลสำหรับราษฎรเหล่านั้น
จนถึงปัจจุบันน้ำเทิน 2 เป็นโครงการลงทุนใหญ่ที่สุดในลาวด้วยเงินลงทุน 1,200 ล้านดอลลาร์ กำลังปั่นไฟขนาด 1,070 เมกะวัตต์ 93% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งจำหน่ายให้แก่ไทย คาดว่าจะสร้างรายได้ให้รัฐบาลลาวประมาณ 1,900 ล้านดอลลาร์ ตลอดอายุสัมปทาน 25 ปี
น้ำเทิน 2 เป็นโครงการลงทุนของภาคเอกชนแห่งแรกในลาวที่ได้ธนาคารโลกช่วยค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งทำให้ต้นทุนในการก่อสร้างถูกลง แต่ขณะเดียวกันผู้ลงทุนต้องการแก้ไขปัญหาและผลกระทบต่างๆ ตามมาตรฐานที่จัดตั้งขึ้นมาร่วมกัน ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารโลก
อย่างไรก็ตามเขื่อนน้ำเทิน 2 ได้ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำในพื้นที่รวม 450 ตางรางกิโลเมตร ในเขตที่ราบสูงนากาย แขวงคำม่วน ในภาคกลางของประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ
นักวิชาการและองค์การพิทักษ์สภาพแวดล้อมต่างๆ กล่าวว่า เขื่อนใหญ่แห่งนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความหลากหลายทางชีวะภาพในอาณาบริเวณ รวมทั้งสัตว์ป่าและพืชพันธุ์หายากที่ใกล้จะสูญพันธุ์อีกจำนวนหนึ่งด้วย
เขื่อนน้ำเทิน 2 ได้เลื่อนการปั่นไฟออกมาจากเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว และ มีกำหนดจะเริ่มผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการในต้นปีนี้
สำหรับโครงการเซกอง 4 มีกำลังปั่นไฟราว 600 เมกะวัตต์ ถือหุ้นใหญ่ 80% โดยบริษัทรีเจียนออยล์ (Region Oil) จากรัสเซีย หุ้นส่วนที่เหลือเป็นของรัฐวิสาหกิจถือหุ้นของรัฐบาลลาว มีกำหนดเริ่มปั่นไปในปี 2556 และกำลังจะทำให้เกิดพื้นที่อ่างเก็บน้ำกว่า 170 ตารางกิโลเมตร
ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการเซกอง 4 จะส่งจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตของไทย และ บริษัทไฟฟ้าเวียดนาม
ตามรายงานของสำนักข่าวทางการก่อนหน้านี้ ในแขวงเซกองเพียงแห่งเดียวกำลังจะมีการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า 8-10 แห่ง ซึ่งนักอนุรักษ์ฯ กล่าวว่าทั้งหมด กำลังจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนลาวและกัมพูชาที่อยู่ใต้ลงไปอย่างกว้างขวาง
สื่อของทางการรายงานในต้นปี 2551 ว่า เขื่อนน้ำทา 1 ของบริษัทจีนในแขวงบ่อแก้ว ทางตอนเหนือของประเทศ กำลังจะส่งผลกระทบต่อประชาชน 34 หมู่บ้าน และ เขื่อนน้ำงึม 3 ในแขวงเซียงขวาง จะ “ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้ สัตว์ป่า ประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงโครงการก่อสร้าง” นอกจากนั้น “การไหลเวียนของน้ำมีการเปลี่ยนแปลง มีการตกตะกอน คุณภาพน้ำเปลี่ยนแปลง การประมงและอื่นๆ”
เขื่อนน้ำงึม 3 ขนาด 440 เมกะวัตต์ ถือหุ้นใหญ่โดย บริษัทโรงไฟฟ้าราชบุรีจำกัด (มหาชน)
การศึกษาโดยบริษัท “เอ็กโก้ลาว” กับบริษัทต่างประเทศอีกแห่งหนึ่งได้พบว่า มีประชาชนราว 90 ครอบครัว รวม 523 คนจะต้องถูกอพยพออกไปจากเขตอ่างเก็บน้ำ ซึ่งจะมีพื้นที่ประมาณ 275 ตารางกิโลเมตร หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ใหม่กล่าว.