ASTVผู้จัดการออนไลน์ - “จอมพลฮุนเซน” นายพล 5 ดาว นายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีกัมพูชา สวมเครื่องแบบติดยศชั้นใหม่ล่าสุดเปิดตัวเป็นครั้งแรกในวันจันทร์ (18 ม.ค.) ที่ผ่านมาในงานพิธีเปิดศูนย์บัญชาการกองกำลังทางเรือแห่งใหม่ในกรุงพนมเปญ หลังจากได้รับพระราชทานชั้นยศสูงสุดนี้จากกษัตริย์นโดรมยุวนาถสีหมุนีเมื่อเดือนที่แล้ว
อาคารดังกล่าวสร้างขึ้นด้วยเงินช่วยเหลือจากเวียดนาม พลโทอาวุโสเหวียนวันเดือก (Nguyen Van Duoc) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเวียดนาม ได้เข้าร่วมในพิธีเปิดด้วย
ยิ่งใหญ่และอำนาจมากกว่าใครๆ ฮุนเซนปรากฏตัวต่อหน้าขุนทหารของกองทัพ พร้อมดาวทองเปล่งประกายสุกวาวบนบ่าข้างละ 5 ดวง
ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าในขณะนี้ว่า ชั้นยศ “นายพลห้าดาว” ได้รับการสถาปนาขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไร แต่กษัตริย์แห่งกัมพูชามีพระบรมราชโองการพระราชทานยศชั้นสูงสุดนี้ให้แก่ “สมเด็จทั้งสาม” พร้อมกัน ซึ่งหมายถึง เจียซิม ประธานวุฒิสภา เฮงสัมริน ประธานสภาผู้แทนฯ และ ฮุนเซน
“พระเจ้าอยู่หัวนโรดมยุวนาถสีหมุนี มีพระประสงค์จะพระราชทานยศนายพลห้าดาวแก่ท่านผู้นำทั้งสามในฐานะเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดีแก่ประเทศชาติและประชาชนกัมพูชาติดต่อกันมายาวนาน” หนังสือพิมพ์ดืมอัมปึลที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล อ้างคำพูดของนายกองซัมออล (Kong Sam Al) รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักพระราชวัง ในพิธีมอบที่จัดขึ้นในรัฐสภาวันที่ 28 ธ.ค.2552
ยศชั้นใหม่ทำให้ฮุนเซน ซึ่งแม้จะไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ ในกองทัพตามกฎหมาย กลายเป็นนายกรัฐมนตรีผู้มีอำนาจสั่งการอย่างล้นพ้น เหนือผู้บัญชาการกองทัพ ซึ่งจะต้องสั่งการนโยบายสำคัญต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีอีกชั้นหนึ่ง
เมื่อปีที่แล้วนายกฯ ฮุนเซนเคยสั่งการข้ามหัว พล.อ.แกกิมยาน (Ke Kim Yan) เช่น สั่งให้กองพลน้อย 911 กองกำลังรบชั้นเยี่ยมของกองทัพไปประจำการที่ชายแดนพระวิหาร สั่งให้หน่วยทหารช่างไปสร้างและบูรณะถนนจาก อ.อันลองแวง ไปยัง อ.ตะแบงมีชัย เพื่อขึ้นสู่ปราสาทพระวิหารทางฝั่งกัมพูชา และสั่งการให้ฮุนมะนา (Hun Mana) บุตรสาวซึ่งเป็นประธานมูลนิธิโทรทัศน์บายน ใช้เงินของมูลนิธิเป็นงบในการก่อสร้างถนน เป็นต้น
ไม่นานหลังจากนั้นฮุนเซนได้สั่งการด้วยวาจา “ปลดกลางอากาศ” พล.อ.แกกิมยาน พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพและแต่งตั้ง พล.อ.พลสะเรือน รองผู้บัญชาการและเสนาธิการกองทัพดำรงตำแหน่งแทน แบบข้ามหัว พล.อ.เตียบัญ รัฐมนตรีกลาโหม
“พอแล้ว.. อย่าแม้แต่จะคิดอีก” ฮุนเซนกล่าวเตือนบรรดานายพลเอกของกองทัพและในกระทรวงกลาโหมมิให้ใฝ่ฝันถึงชั้นยศจอมพลกับดาวสีทองบนบ่า 5 ดวง
“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแต่งตั้งให้เป็นการเฉพาะ ผมจะไม่เสนอแต่งตั้งให้ใครอีก” ฮุนเซนกล่าวเตือนบรรดานายทหารอาวุโสนับสิบนาย ซึ่งล้วนเป็นบุคคลใกล้ชิดที่หยิบขึ้นสู่อำนาจด้วยมือตัวเอง
ฮุนเซนยังกลายเป็นผู้บัญชาการทหารที่มียศชั้นสูงสุดเหนือกองทัพใดๆ ในหมู่ประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งไทยที่ไม่มี “นายพลห้าดาว” ในประจำการอีก หลังยุคจอมพลถนอม กิตติขจร กับ พลเอกประพาส จารุเสถียร ที่พ้นจากอำนาจในปี 2516
ปัจจุบันในประเทศเพื่อนบ้านรอบข้างไม่มีนายพล 5 ดาวในประจำการและไม่เคยมีมาก่อน แม้แต่กองทัพเวียดนามที่เคยนำกลุ่มฮุนเซน-เฮงสัมริน-เจียซิม ขึ้นสู่อำนาจเมื่อ 31 ปีก่อน ชั้นยศของผู้บัญชาการสูงสุด ก็เป็น “นายพลโทอาวุโส”
ในกองทัพประชาชนลาว รัฐมนตรีกลาโหมซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดทางการทหารคือ พล.ท.ดวงใจ พิจิต เพิ่งได้รับเลื่อนยศชั้นจากพลตรี เมื่อปี 2550 ปัจจุบันเป็นนายพลโทเพียงคนเดียวในกองทัพ หลังจาก พล.ท.ไอ่ สุลิยะแสง เกษียณราชการจากตำแหน่งรัฐมนตีช่วยว่า
พล.ท.โอสะกัน ทำมะเทวา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ อดีตหัวหน้ากรมใหญ่การเมืองกองทัพ ถึงแก่กรรมปี 2547 พล.ท.นะคอน สีสะนน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการ อดีตหัวหน้ากรมใหญ่พลาธิการ ย้ายไปรับตำแหน่งด้านความมั่นคงจนกระทั่งเกษียณอายุ
ทั้งหมดเป็นนายทหารนายพลโทรุ่นเก่า รุ่นสุดท้ายของกองทัพประชาชนลาว ปัจจุบันระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกับหัวหน้ากรมใหญ่ต่างๆ เป็นนายทหารยศพลตรีทั้งสิ้น ซึ่งเท่ากับระดับผู้บัญชาการทหารเขตต่างๆ
กองทัพประชาชนลาวไม่มีนายทหารยศพลเอกอีกเลย นับตั้งแต่ พล.อ.คำไต สีพันดอน อดีตรัฐมนตรีกลาโหม กับ พล.อ.สีสะหวาด แก้วบุนพัน อดีตประธานเสนาธิการสูงสุด เกษียณพ้นตำแหน่ง และกองทัพประชาชนลาวได้เข้าสู่ระบบยศชั้นใหม่
ส่วนในเวียดนาม รัฐมนตรีกลาโหมฟุงกวางแทง (Phung Quang Thanh) เป็นหนึ่งในบรรดา “นายพลโทอาวุโส” 4 หรือ 5 คนที่อยู่ส่วนยอดของกองทัพกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอีก 3 คน ซึ่งล้วนเป็น “แม่ทัพ” ทุกคนประดับดาวสีทองบนบ่า 4 ดวง ยศชั้นเท่ากัน แต่อำนาจและหน้าที่ต่างกันโดยตำแหน่งตามกฎหมาย
ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ช่วงเกือบ 100 ปี กองทัพประชาชนเวียดนามซึ่งปัจจุบันมีกำลังพลราว 450,000 คน เคยเอาชนะกองทัพฝรั่งเศสในยุคต่อสู้เพื่อเอกราช เคยทำให้กองทัพสหรัฐฯ อับอายใน “สงครามเวียดนาม” (2508-2518) ไม่เคยมีนายพล 5 ดาวแม้แต่คนเดียว
พล.อ.หวอ-งเวียน-ยาป (Vo Nguyen Giap) “วีรบุรุษเดียนเบียนฟู” ผู้เคยบัญชาการรบในภาคสนาม นำกองทัพเวียดนามเหนือทำสงครามขั้นสุดท้ายกับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสในปี 2497 ก็เป็น “นายพลเอก” ก่อนจะได้รับการสถาปนาเป็น “นายพลเอกอาวุโส” เมื่อขึ้นเป็นรัฐมนตรีกลาโหมของประเทศ
เกษียณจากราชการไปนานแล้ว ปัจจุบันอายุ 99 ปี พล.อ.ยาป ก็ยังเป็น “นายพลเอกอาวุโส” สี่ดาว อย่างไม่เปลี่ยนแปลง
แม้จะยังไม่มีการยกเลิกอย่างเป็นทางการ แต่หลายปีมานี้กองทัพประชาชนเวียดนามยังไม่เคยแต่งตั้งนายทหารคนใดครองยศชั้นนายพลเอกอีกเลย พล.อ.วันเตี๋ยนยวุ๋ง (Van Tien Dung) กับ พล.อ.จูฮวุ่ยเหมิน (Chu Huy Man) เป็นสองคนสุดท้าย บุคคลหลังเป็นอดีตเสนาธิการกองทัพ ถึงแก่กรรมหลายปีแล้ว
พล.อ.ยวุ๋ง ขึ้นเป็นรัฐมนตรีกลาโหมและผู้บัญชาการกองทัพ แทน พล.อ.ย๊าป ในปี 2518 จนกระทั่งพ้นจากกรมการเมืองในปี 2530 ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามหันไปใช้เศรษฐกิจแบบตลาดพัฒนาประเทศตามแนวทางเปลี่ยนใหม่ “โด่ยเหมย” (Doi Moi) แบบสหภาพโซเวียต และพ้นจากทุกตำแหน่งในรัฐบาลในปีเดียวกัน
นายทหารผู้ที่กลายเป็นอีกหนึ่งตำนานในเวียดนาม ยังเป็นเจ้าของ “ยุทธการบัวบาน” ในสงครามขั้นสุดท้ายกับรัฐบาลไซง่อนในช่วงปี 2517-2518 และยังอยู่เบื้องหลังยุทธการเผด็จศึกเขมรแดง ส่งกองทัพเวียดนามกำลังพลนับแสนยึดกรุงพนมเปญได้สำเร็จในวันที่ 7 ม.ค.2522 และนำกลุ่มฮุนเซน-เจียซิม-เฮงสัมริน ขึ้นสู่อำนาจ
นายพลเอกคนสุดท้ายของเวียดนาม ถึงแก่กรรมในเดือน มี.ค.2545 รัฐบาลจัดงานศพอย่างสมเกียรติในระดับรัฐพิธี
การปรากฏตัวในเครื่องแบบเต็มยศของ "นายพล 5 ดาวฮุนเซน" ครั้งแรกต้นสัปดาห์นี้ จึงเป็นการข้ามชั้นมหาบุรุษทุกคนในระดับอนุภูมิภาค และ ขึ้นเทียบชั้นผู้บัญชาการสูงสุด หรือGeneral of US Armies (โปรดสังเกต 'es' ท้ายคำ) ของกองทัพสหรัฐฯ
นั่นคือตำแหน่งนายพล 5 ดาว ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพอันมหึมา ซึ่งในประวัติศาสตร์กว่า 200 ปีของประเทศ ผ่านสงครามกลางเมือง สงครามโลกครั้งที่ 1 กับสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผู้ครองยศชั้นพิเศษนี้เพียง 9 คน ในสถานการณ์พิเศษต่างๆ
กองทัพสหรัฐฯ สถาปนายศชั้นนายพล 5 ดาวขึ้นมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากมีปัญหาในการนับชั้นยศกับผู้บัญชาการกองทัพพันธมิตรชาติอื่นๆ
ตามข้อมูลในวิกิพีเดีย นายพล 5 ดาวของกองทัพบกสหรัฐฯ ในอดีต ได้แก่ พล.อ.จอร์จ ซี มาร์แชล (ตั้งในภายหลัง) พล.อ.ดักลาส แม็กอาร์เธอร์ พล.อ.ดไวต์ ดี ไอเซนฮาวเออร์ กับ พล.อ.โอมาร์ เอ็น แบรดลีย์ ซึ่งบุคคลหลังเป็นผู้บัญชาการกองทัพที่ 1 ในเหตุการณ์วันดีเดย์ การยกพลขึ้นบกที่หาดนอร์มังดี ฝรั่งเศส
จากกองทัพเรือ 2 คน คือ พล.ร.อ.วิลเลียม ดี เลฮีย์ พล.ร.อ.เออร์เนสต์ เจ คิงส์ พล.ร.อ.เชสเตอร์ นิมิตซ์ กับ พล.ร.อ.วิลเลียม เอฟ “บุล” เฮนรี และจากกองทัพอากาศคือ พล(อากาศ)เอกเฮ็นรี อาร์โนลด์
พล.อ.โอมาร์ เนลสัน แบรดลีย์ ถึงแก่กรรมในปี 2534 เป็นนายพล 5 ดาวคนสุดท้ายของสหรัฐฯ และ ยังไม่เคยมีการแต่งตั้งนายทหารคนใดอีก
ส่วนระบบของอังกฤษ ได้มีการสถาปนาตำแหน่ง “จอมพล” (Marshall) ขึ้นบัญชาการของกองทัพในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเทียบชั้นนายพล 5 ดาวของกองทัพสหรัฐฯ นั่นคือ จอมพลเบอร์นาร์ด มอนต์โกเมอรี่ ที่มีชื่อเสียงกระฉ่อนโลก แต่ไม่มีเครื่องแบบที่ประดับยศดาว 5 ดวง
กรณีใกล้บ้านจึงเป็นทั้งจอมพลและนายพล 5 ดาวพร้อมๆ กันอย่างสมบูรณ์ หาได้ยากยิ่งในโลกยุคใหม่