xs
xsm
sm
md
lg

อินเดียพัฒนาทางหลวงเชื่อมพม่าออกทะเลเบงกอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<bR><FONT color=#3366ff>แผนที่ทำขึ้นจาก Google Map แสดงให้เห็นเขตรอยต่อ 3 ประเทศบังกลาเทศ พม่า กับ รัฐในดินแดนตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 3 รัฐจากทั้งหมด 7 รัฐ ที่ไร้ทางออกทะเล รัฐบาลอินเดียอินเดียอนุมัติงบประมาณมหาศาล เพื่อพัฒนายกระดับทางหลวงไปยังชายแดน เพื่อเปิดทางเชื่อมต่อและหาทางออกสู่ทะเลที่เมืองท่าสิตต่วยในพม่ากับเมืองจิตตะกองในบังกลาเทศ รวมทั้งช่วยพม่าพัฒนาถนนอีกสายหนึ่งเพื่อไปยังเมืองมัณฑะเลย์กับเมืองหลวงใหม่เนย์ปีดอ ที่อยู่ใต้สุดในแผนที่นี้คือเมืองจ๊อกปีว ที่เป็นต้นทางท่อก๊าซไปยังชายแดนจีน </FONT></bR>

ASTVผู้จัดการรายวัน/เมียนมาร์ไทมส์-- อินเดียยอมลงทุน 16,660 ล้านรูปีหรือ 357 ล้านดอลลาร์ พัฒนาทางหลวงในรัฐตรีปุระ (Tripura) ที่ไร้ทางออกสู่ทะเล ในดินแดนห่างไกลทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อเชื่อมกับทางหลวงในบังกลาเทศ ขณะเดียวกันก็เริ่มตัดทางหลวงอีกสายหนึ่งเข้าพม่า ซึ่งจะทำให้สามารถไปใช้ท่าเรืออ่าวเบงกอลได้

คณะกรรมาธิการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการขยายทางลวงสาย 44 จากเมืองชิลลอง (Chillong) ไปยังชายแดนภาคใต้ของรัฐตรีปะรุ ให้เป็นถนนที่มีสี่ช่องทางจราจร นิตยสารข่าวเมียนมาร์ไทมส์ ฉบับที่ลังวางแผงในปัจจุบันอ้างรายงานของสำนักข่าวอินโด-เอเชียนนิวส์เซอร์วิส (Indo-Asian News Service)

จากปลายทางหลวงสายดังกล่าวที่เมืองซาบรูม (Sabroom) ไปยังท่าเรือจิตตะกอง (Chittagong) ในบังกลาเทศ ระยะทางเพียง 75 กิโลเมตร เท่านั้น

เจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดียยังเปิดเผยอีกว่า คณะกรรมการระดับรัฐบาลกลางในกรุงนิวเดลีอีกชุดหนึ่งได้เข้าเร่งรัด การดำเนินโครงการพัฒนาและตัดถนนสายใหม่อีกสายหนึ่งในรัฐมิซอรัม (Mizorum) ไปยังพรมแดนพม่า เป็นระยะทางราว 100 กม. คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณราว 140 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้สารถเชื่อมต่อไปยังท่าเรือที่เมืองสิตต่วย (Sittwe) ในรัฐยะไข่ (Rakhine) ได้

รัฐบาลอินเดียได้เซ็นสัญญาช่วยรัฐบาลพม่าก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกดังกล่าว ที่บริเวณปากแม่น้ำกาลาดัน (Kaladan) ในพม่า แม่น้ำสายนี้ต่อไปถึงรัฐมิซอรัม ซึ่งจะทำให้รัฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียทั้งหมดออกสู่ทะเลเบงกอลได้

"หลังจากสร้างแล้วเสร็จในปี 2555 มิซอรัมก็จะเป็นประตูการค้าขายระหว่างประเทศ ท่าเรือสิตต่วยจะเปิดเส้นทางใหม่ให้แก่รัฐที่เคยไม่มีทางออกทะเลกับประชาคมระหว่างประเทศ" สำนักข่าวในอินเดียอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ไม่ประสงค์จะให้ออกนาม

รัฐบาลอินเดียได้พยายามมาหลายปีหาทางเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านตามนโยบาย "มองตะวันออก" (Look East Policy) ของรัฐบาลพรรคคองเกรส (Congress Party) โดยนายกรัฐมนตรีมันโมหินซิง (Manmohan Singh)

ในเดือน ต.ค.2549 รัฐบาลร่วมกับเอกชนได้จัดขบวนคาราวานรถยนต์ออกเดินทางจากมิซอรัม ผ่านดินแดนอันทุระกันดารของพม่า เข้าสู่ประเทศไทยที่ด่านชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ไปยังนครเวียงจันทน์ของลาว ต่อไปยังเวียดนาม เข้ากัมพูชา ก่อนจะวกมายังประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง

ขบวนคาราวานรถยนต์จากอินเดียหยุดพักที่โรงแรมพลาซาอะธีนีในกรุงเทพฯ ก่อนจะออกเดินทางต่อไปยังมาเลเซียกับสิงคโปร์รวมระยะทางทั้งหมดกว่า 6,000 กม. เพื่อแสดงให้เห็นว่า อินเดียกับอาเซียนไม่ได้ไกลกันจนเกินไป

อินเดียยังมีข้อตกลงกับจีนที่จะร่วมกันพัฒนาเส้นทางขนส่งกำลังบำรุงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่รู้จักกันในชื่อ "ถนนสติลเวล" (Stilwell Road) ให้เป็นทางหลวงที่เชื่อมจีน พม่าและอินเดีย เข้าด้วยกัน โดยผ่านดินแดนภาคเหนือพม่าเข้าสู่มณฑลหยุนหนัน

อินเดียได้เข้าไปมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในพม่ามากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทก๊าซอินเดียได้ร่วมกับจีน และกลุ่มบริษัทจากเกาหลีใต้ในการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในพม่า จนพบก๊าซปริมาณมหาศาลในแปลง A-1 กับ A-3 นอกชายฝั่งรัฐยะไข่

ตามรายงานของสื่อในอินเดีย ขณะนี้บริษัทก๊าซสองแห่งคือ ONGC Videsh กับ GAIL กำลังรอไฟเขียวจากรัฐบาล เพื่อเข้าร่วมทุนกับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของจีนในโครงการสร้างท่อส่งก๊าซจากทะเลเบงกอลไปยังมณฑลหยุนหนัน มูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ และ ร่วมทุนในบริษัทใหม่เพื่อผลิตก๊าซในแปลง A-1 กับ A-3 จำหน่ายให้แก่บริษัทจีน.
กำลังโหลดความคิดเห็น