xs
xsm
sm
md
lg

แหลมฉบังยังโอเคท่าเรือเวียดนามยังห่างชั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#cc00cc>ภาพถ่ายวันที่ 23 พ.ย.2552 มองจากหอสังเกตการณ์ท่าเรือแหลมฉบัง เรือสำราญจากเยอรมนีลำหนึ่งนำผู้โดยสารที่เป็นนักท่องเที่ยวระดับบนเข้าจอดเทียบท่า เจ้าหน้าที่ไทยกล่าวว่าท่าเรือน้ำลึกของไทยยังไม่รู้สึกถึงผลกระทบใดหลังจากท่าเรือน้ำลึกในภาคใต้เวียดนามเปิดดำเนินการมาหลายเดือนแล้ว </font></b>

ASTV ผู้จัดการรายวัน -- เวียดนามอาจจะต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี หรือกว่านั้นในการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ ทั้งในแง่สถานที่ และการให้บริการ และถึงวันนั้นท่าเรือแหลมฉบังของไทย อาจจะเริ่มรู้สึกถึงผลกระทบ เจ้าหน้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง กล่าว

นายชุนณ์ลพัทธ์ ศรีภาเพลิน หัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์ท่าเรือแหลมฉบัง กล่าวเมื่อวันจันทร์ (23 พ .ย.) ระหว่างต้อนรับคณะของธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือเอดีบีประจำประเทศไทย ซึ่งมีผู้สื่อข่าวจากหลายประเทศร่วมในคณะ รวมทั้งจากเวียดนามและกัมพูชาด้วย

“ตอนนี้เรายังไม่รู้สึกว่าได้รับผลกระทบอะไร เรายังไปได้ดีไม่เปลี่ยนแปลง” นายชุนณ์ลพัทธ์กล่าวในการตอบคำถามเกี่ยวกับผลกระทบ หลังจากเวียดนามเปิดใช้ท่าเรือเติ่นก๋าง-ก๋ายแม็บ (Tan Cang-Cai Mep) ทางภาคใต้ของประเทศในช่วงกลางปีที่ผ่านมา

เวียดนามประกาศว่า ท่าเรือเติ่นก๋าง ทำให้สามารถส่งออกสินค้าตรงไปยังสหรัฐฯ กับทวีปอเมริกาเหนือได้ โดยไม่ต้องสงผ่านท่าเรือของไทย หรือสิงคโปร์ อีกทอดหนึ่ง เช่นเมื่อก่อน ทำให้ประหยัดค่าขนส่งได้มหาศาล

แต่เจ้าหน้าที่ของไทย กล่าวว่า ท่าเรือน้ำลึกแห่งแรกของเวียดนาม เพิ่งจะอยู่ในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น จะต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะพัฒนาขึ้นมาเทียมบ่าเทียมไหล่กับท่าเรือใหญ่แห่งต่างๆ ในอนุภูมิภาค

“ปัจจุบันยังมีสินค้าจากเวียดนามมาส่งออกที่แหลมฉบัง” นายชุนณ์ลพัทธ์ กล่าว โดยอธิบายว่าสินค้าจากเวียดนามจะส่งผ่านทางหลวงเลข 9 ผ่านลาวเข้ามา ซึ่งสินค้าจากลาวก็ยังส่งออกผ่านแหลมฉบังเช่นกัน

ตามตัวเลขอย่างเป็นทางการปีนี้ ท่าเรือแหลมฉบังให้บริการขนส่งสินค้าได้แล้วจำนวน 2,177,402 เมตริกตัน แบ่งเป็นสินค้าขาออก 1,803,910.08 กับสินค้าเข้า 373,491.93 เมตริกตัน ปี 2551 ตลอดทั้งปีให้บริการสินค้าได้ทั้งหมด 2,730,951.56 เมตริกตัน เทียบกับ 1,981,701.69 เทียบกับ 1,981,701.69 ตันในปี 2550 และ 1,423,108.89 เมตริกตัน ในปี 2549

ไม่เพียงแต่จะขนส่งสินค้าได้เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ท่าเรือแหลมฉบังยังเป็นปลายทางสำคัญต้อนรับบรรดานักท่องเที่ยวระดับบน ที่ไปกับเรือสำราญจากทั่วโลก

แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะซบเซา แต่ปีนี้มี “ผู้โดยสาร” ใช้บริการท่าเรือแห่งนี้รวม 73,046 เที่ยว/คน เป็นผู้โดยสารขาเข้าจำนวน 36,643 เที่ยวคน และ ขาออก 36,403 เที่ยวคน เทียบกับตลอดปี 2551 ที่มีผู้โดยสารใช้บริการทั้งสิ้น 55,208 เที่ยวคน เทียบกับ 46,548 เที่ยวคน ในปี 2550 และ 63,980 เที่ยวคนในปี 2549


ตามรายงานของสื่อทางการเวียดนามก่อนหน้านี้ กลุ่มพันธมิตรเดินเรือทะเลขนาดใหญ่ 4 บริษัท ได้เข้าเปิดให้บริการที่ท่าเรือแห่งใหม่ของเวียดนาม ตั้งแต่เดือน ส.ค.เป็นต้นมา สำหรับขนส่งสินค้าตรงไปยังชายฝั่งตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ

ท่าเรือเติ่นก๋ง-ก๋ายแม็บ ใน จ.บ่าเหรียะ-หวังเต่า (Ba Ria-Vung Tao) เป็นท่าเรือน้ำลึกแห่งแรกของเวียดนาม ซึ่งกลุ่มผู้ลงทุนจากสิงคโปร์ และเป็นผู้บริหารร่วม หมายมั่นจะให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางทะเลอีกแห่งหนึ่งในระดับภูมิภาค

นับเป็นครั้งแรกที่การขนส่งสินค้าจากเวียดนามไปยังสหรัฐฯ ไม่ต้องไปใช้เรือฟีดเดอร์บรรทุกจากท่าเรือไซ่ง่อนที่แออัดไปผ่านถ่ายในสิงคโปร์ ฮ่องกง หรือ เกาหลี ในขณะที่ปัจจุบันสหรัฐฯ กลายเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของเวียดนามแทนที่ยุโรป

สื่อของทางการ กล่าวด้วยว่า เดือน มิ.ย.ปีนี้ บริษัทชิปปิ้งได้เริ่มใช้เรือบาร์จบรรทุกสินค้าจากท่าสีหนุวิลล์ของกัมพูชาไปยังเติ่นก๋าง ไม่ต้องใช้ฟีดเดอร์บรรทุกไปยังแหลมฉบัง หรือท่าเรือสิงคโปร์ เหมือนเมื่อก่อนอีก ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายต่อคอนเทนเนอร์ได้มหาศาล

กลุ่มบริษัทเดินเรือ 4 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย คอสคอน (Coscon) เคไลน์ (K-Line) หยางหมิง (Yang Ming) และ ฮั่นจิน (Hanjin) ประกาศจะให้บริการขนส่งสินค้าตรงจากก๋ายแม็บ ไปยังฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ บ้าง โดยจะใช้เวลาเพียง 27 วัน ไปยังท่านอร์ฟอล์ค หรือ 28 วันไปยังท่าเรือนิวยอร์ก

กลุ่มเดินเรืออีกกลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วย APL บริษัทลูกของกลุ่มเนปจูนไลน์จากสิงคโปร์ มิตซุย (Mitsui OSK Line) จากญี่ปุ่น กับ ฮั่นจิน จากเกาหลี ได้เริ่มให้บริการเดินเรือสินค้าสายตรงเชื่อมฝั่งตะวันตกทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งใช้เวลา 16-24 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น