xs
xsm
sm
md
lg

จีนลุ้นโรงงานกระดาษสวนป่า $2,000 ล้านสะหวันนะเขต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#cc00cc>ป้ายบอกให้รู้ว่าที่นี่เป็นเขตสวนป่ายูคาลิปตัสสัมปทานของ Oji Paper จากญี่ปุ่น บริษัทนี้ปักหลักในแขวงบอลิคำไซ มาก่อนใครๆ แต่ใต้ลงไปในแขวงสะหวันนะเขตอาจจะมี สวนป่ายูคาลิปตัสที่ใหญ่กว่าของกลุ่มยักษ์กระดาษจากจีนอาจจะผุดขึ้นมาในเร็วๆ นี้ </FONT></bR>

ผู้จัดการ360องศารายสัปดาห์-- ไม่เพียงแต่กำลังจะเป็น "แบตเตอรีแห่งเอเชีย" หรือผู้ส่งออกไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเท่านั้น ถ้าหากโครงการลงทุนของบริษัทจากจีนได้รับไฟเขียว อีกไม่นานลาวอาจจะกลายเป็นแหล่งผลิตกระดาษรายใหญ่อีกด้วย

กลุ่มผู้ผลิตบริษัทจีนแห่งหนึ่งกำลังลุ้นแผนการลงทุนสร้างโรงงานกระดาษขนาดใหญ่ขึ้นในเขตระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก พร้อมกับแผนการปลูกยูคาลิปตัสในพื้นที่หลายแสนไร่เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบ

บริษัทซันเปเปอร์ (Sun Paper industry) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นครเสิ่นเจิ่นของจีน ประกาศแผนการลงทุน 197.147 ล้านดอลลาร์ ตั้งแต่เดือน ต.ค.2551 ในโครงการ 1,800 ล้านดอลลาร์ตลอดหลายปีข้างหน้า

แต่แผนการลงทุนสร้างโรงงานกระดาษบรรจุภัณฑ์เพิ่งเปิดเผยออกมาเป็นรูปเป็นร่าง

กลุ่มผู้ผลิตกระดาษจากมณฑลส้านตง (Shan Dong) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์เสิ่นเจิ้นปีที่แล้วว่า กำลังเจรจารัฐบาลลาวเพื่อขอสัมปทานผืนดินราว 30,000 เฮกตาร์ (187,500 ไร่) ภายใต้สัญญาสัมปทาน 50 ปี กับอีก 70,000 เฮกตาร์ (437,500 ไร่) จะเป็นสวนป่ายูคาลิปตัสร่วมกับราษฎรในท้องถิ่น เพื่อผลิตเยื่อกระดาษปีละ 300,000 ตัน

ซันเปเปอร์ประกาศในเดือน พ.ค.ปีนี้ว่า บริษัทเตรียมงบประมาณอีกก้อนหนึ่งราว 200,000 ดอลลาร์เพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคสำหรับราษฎร 44 หมู่บ้านในพื้นที่สัมปทาน รวมทั้งทำถนน สร้างโรงเรียนกับโรงพยาบาลด้วย ซึ่งอาจจะหมายถึงว่าผลการศึกษาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมรับอนุมัติจากทางการลาวแล้ว

แผนการของซันเปเปอร์ได้เปลี่ยนไปจากเดิมซึ่งเมื่อก่อนนี้ตั้งใจจะใช้ผืนดินในลาวปลูกยูคาลิปตัส ย่อยเป็นชิ้น (chip) และส่งออกป้อนโรงงานกระดาษแห่งหนึ่งในเวียดนาม กับอีกจำนวนหนึ่งส่งป้อนโรงงานในเขตเมืองหยางโจว (Yangzhou)
 <br><FONT color=#cc00cc>ภาพจากเว็บไซต์ของ Sun Paper Industry ที่ส้านตง (Shan Dong) เป็นโรงงานกระดาษของบริษัท ผลิตกระดาษหลากหลายชนิด แต่โรงงานในสะหวันนะเขต จะเน้นไปที่กระดาษสำหรับบรรจุภัณฑ์ </FONT></bR>
ตามรายงานของสำนักข่าวสารปะเทศลาว โรงงานผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ จะเริ่มก่อสร้างได้ทันทีในเขตเมืองพีน พร้อมๆ กับการปลูกป่ายูคาลิปตัส ซึ่งจะใช้เนื้อที่รวมกันกว่า 600 เฮกตาร์ (เกือบ 4,000 ไร่) ในเฟสแรก

บริษัทจากจีนเสนอจ้างงานในท้องถิ่นราว 2,500 คนในปีข้างหน้านี้ และ เสนอขยายโรงงานเพื่อผลิตกระดาษอีกหลายชนิดในเฟสที่สองซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนอีก 300-500 ล้านดอลลาร์ จะมีการจ้างแรงงานถึง10,000 คน ราษฎรในพื้นที่อีกราว 50,000 คนจะเข้าร่วมโครงการสวนป่าเกษตรพันธะสัญญา

ถ้าหากเป็นจริงและด้วยกำลังคนขนาดนี้ โรงงานผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์ในลาวก็จะมีขนาดมหึมามหาศาล

กลุ่มเกษตรรุ่งเรืองพืชผลจากไทยได้เข้าปักหลักในแขวงสะหวันนะเขตก่อนบริษัทจีนหลายปี เช่นเดียวกับกลุ่มเบอร์ลาอินดัสตรี (Birla Industry) จากอินเดียที่ขอสัมปทานผืนดิน 50,000 เฮกตาร์ (กว่า 310,000 ไร่) ทำสวนป่ายูคาลิปตัส

บริษัทกระดาษโอจิ (Oji Paper) ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นเข้าไป ปักหลักในแขวงบอลิคำไซมาตั้งแต่ต้นปี 2548 เมื่อเร็วๆ นี้ได้เสนอขออนุมัติพื้นที่สัมปทานอีกจำนวนหนึ่งในแขวงอัตตะปือทางตอนใต้สุดของประเทศ

ไม่ต่างกับอุตสาหกรรมการเกษตรอื่นๆ โครงการสวนป่าเกี่ยวพันกับสิ่งแวดล้อมอย่างแยกกันไม่ออก และอาจจะต้องขับไล่ราษฎรออกจากพื้นที่สัมปทานจำนวนมาก นอกจากนั้นโรงงานกระดาษยังเสี่ยงเป็นอย่างมากที่จะให้เกิดมลพิษในลำน้ำ เช่นที่เคยเกิดขึ้นในไทยกับอีกหลายประเทศ
 <br><FONT color=#cc00cc>ภาพจากเว็บไซต์แห่งหนึ่งเป็นส่วนยูคาลิปตัสของโอจิกำลังขึ้นงอกงาม แต่ก็กว่าจะมีถึงวันนี้บริษัทกระดาษยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นต้องฝ่าขวากหนามมากมาย </FONT></bR>
โอจิเปเปอร์ถูกต่อต้านและการกดดันมหาศาลจากบรรดาองค์การพัฒนาภาคเอกชนหรือเอ็นจีโอตลอดหลายปีมานี้ ในขณะที่ผืนดินเพื่อการเกษตรในลาวก็มีน้อยลงทุที

นอกจากอุตสาหกรรมกระดาษแล้วภาคกลางกับภาคใต้ของลาว กำลังจะมีสวนยางพาราเป็นพื้นที่หลายแสนไร่ใน 4 แขวงภาคใต้โดยทุนจากประเทศเพื่อนบ้าน โรงงานผลิตยางพาราแห่งแรกจะผุดขึ้นในปีหน้าโดยกลุ่มทุนเวียดนาม

สื่อของทางการลาวรายงานเมื่อไม่นานมานี้ว่า กลุ่มน้ำตาลมิตรผลจากไทยได้ลงทุนไปแล้วประมาณ 45 ล้านดอลลาร์ ปีนี้มีไร่อ้อยในแขวงสะหวันนะเขต 5,000 เฮกตาร์ (31,000 ไร่เศษ) เมื่อต้นปีได้รับอนุมัติพื้นที่สัมปทานอีก 10,000 เฮกตาร์ กับอีกกว่า 1,000 เฮกตาร์ที่เป็นโครงการเกษตรพันธะสัญญากับราษฎรในท้องถิ่น

โรงงานน้ำตาลแห่งแรกของลาว ตั้งอยู่ในเขตพิเศษสะหวัน-เซโน เริ่มส่งออกไปตลาดยุโรปตั้งแต่ปีที่แล้ว

โครงการโรงงานกระดาษบรรจุภัณฑ์ล่าสุดนี้ก็ไม่ต่างกัน กลุ่มทุนจีนกำลังใช้ศักยภาพของถนนระเบียงเศรษฐกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย และ ใช้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนของลาว รวมทั้งสิทธิด้านการส่งออกอีกด้วย
<br><FONT color=#cc00cc>ป้ายภาษาเวียดนามคงจะพอบอกได้ว่า สวนป่ายูคาลิปตัสในแขวงจำปาสักแห่งนี้เป็นแปลงสัมปทานของผู้ใด</FONT></bR>
ถึงแม้จะยังไปไม่ถึงสุดปลายทางตะวันตกที่เมืองท่ามะละแหม่ง (Mawlamyine) ในพม่า แต่ทางหลวงเลข 9 กำลังเป็นเส้นทางคมนาคม ขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยวที่สำคัญมากขึ้นทุกวัน

เมืองพีนตั้งอยู่ใจกลางจังหวัดใหญ่ที่สุดของลาว และอยู่กึ่งกลางทางหลวงเลข 9 ที่มุ่งไปยังด่านแดนสะหวัน-ลาวบ๋าว (Lao Boa) เพื่อเข้าสู่เวียดนามใน จ.กวางจิ (Quant Tri) เส้นทางนี้อยู่ในแผนพัฒนาการขนส่งระบบราง ซึ่งเมื่อต้นปีนี้รัฐบาลได้อนุญาตให้กลุ่มทุนจากมาเลเซียสำรวจศึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายหนึ่ง

กลุ่มผู้ผลิตกระดาษจากจีนเลือกเขตเมืองพีนในส่วนปลายของเขตสะหวัน-เซโนเป็นที่ตั้งโครงการ อาจจะเป็นเพราะว่าที่นั่นยังเป็นเขตทุระกันดารที่สุดแห่งหนึ่งของแขวงใหญ่และที่มีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง เป็นไปได้สำหรับการบุกเบิกพื้นที่รกร้างว่างเปล่านับแสนๆ ไร่

ถ้าหากโครงการของซันเปเปอร์เป็นไปตามแผน ลาวก็จะเป็นผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่อีกรายหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหีบห่อบรรจุภัณฑ์ ซึ่งอาจจะรวมถึงส่งออกไปยังเวียดนามและแผ่นดินใหญ่จีนอีกด้วย
<br><FONT color=#cc00cc>ฟ้องด้วยรูป? --องค์กาารอนุรักษ์สภาพแวดล้อมแห่งหนึ่งเผยแพร่ภาพนี้เมื่อปี 2549 ระบุว่าเป็นที่สัมปทานทำสวนป่ายูคาลิปตัสในแขวงบอลิคำไซของทุนต่างชาติ ซึ่งมีการตัดไม้ที่ขึ้นตามธรรมชาติจำนวนมากก่อนจะปลูกพืชเพื่อผลิตเยื่อกระดาษ และยังต้องโยกย้ายราษฎรจำนวนมากออกจากพื้นที่ที่ทำกินมาหลายชั่วอายุคน </FONT></bR>
โรงงานปิโตรเคมีแห่งแรกในเวียดนามกำลังจะผุดขึ้นใกล้ๆ กับโรงกลั่นยวุ๋งกว๊าต (Dung Quat) ใน จ.กว๋างหงาย (Quang Ngai) ซึ่งเป็นโรงกลั่นแรกของประเทศ อุตสาหกรรมปลายน้ำอื่นๆ กำลังจะติดตามไปที่นั่น

ในเดือน ส.ค.นี้ รัฐบาลเวียดนามอนุมัติให้กลุ่มบริษัทน้ำมันแห่งชาติ หรือ ปิโตรเวียดนาม (PetroVietnam) เข้าลงทุนพัฒนาและบริหารท่าเรือหวุงอาง (Vung Ang) ใน จ.ห่าตี๋ง (Ha Tinh) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากส่วนปลายของทางหลวงเลข 9 ใน จ.กว๋างจิ

หวุงอางกำลังจะเป็นท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ เป็นประตูใหญ่การส่งออกในภาคกลางตอนบนของประเทศในอีก 2-3 ปีข้างหน้า รองรับอุตสาหกรรมการผลิตที่กำลังผุดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และสวนอุตสาหกรรมนับสิบๆ แห่งในจังหวัดชายฝั่งทะเล ซึ่งในอนาคตอันใกล้จะต้องใช้บรรจุภัณฑ์จำนวนมหาศาล

เมื่อมองภาพรวมทั้งหมดจะเห็นว่าโรงงานกระดาษในแขวงสะหวันนะเขตของนักลงทุนจีน มีอนาคตที่ยาวไกล.
กำลังโหลดความคิดเห็น