เวียดนามเน็ต - “สปาปลา” หรือ ปลาบำบัด ที่กำลังแพร่หลายในเมืองไทยขณะนี้ แม้แต่เพื่อนบ้านอย่างประเทศเวียดนามเอง การทำสปาปลาก็กำลังเป็นที่นิยมกันมาก และมีร้านให้บริการสปาในลักษณะนี้เต็มไปหมด
การให้บริการสปาปลา มีปรากฏครั้งแรกในเวียดนามเมื่อปี 2551 แต่ภายในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจสปาปลาขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว โดยสปาปลาแห่งแรกและแห่งเดียวในกรุงฮานอย “ซากุระสปา” ตอนนี้ขยายกิจการไปกว่า 10 สาขาทั่วประเทศ
ลูกค้าเข้าคิวรอใช้บริการสปาปลาที่ใช้ปลาพันธุ์ “การ์รารูฟา” หรือที่เรียกว่า “ดอกเตอร์ฟิช” ตอดผิวที่ลอกและเสียออก เนื่องจากเชื่อว่าสารบางอย่างในปากของปลาสามารถรักษาโรคผิวหนังได้
เมื่อไม่นานมานี้ บริษัทให้บริการด้านโรงแรมและร้านอาหาร บนถนนเจิ่นฮุงดาว (Tran Hung Dao) นครโฮจิมินห์ ได้นำเข้าปลาดอกเตอร์ฟิช จำนวน 5,000 ตัว มาจากเกาหลีใต้ แม้แต่บริษัทจำหน่ายอาหารซีฟู้ดก็เปิดศูนย์สปาปลาทันสมัยขึ้นในเมืองเกิ่นเธอเช่นกัน
นายจุ่ง จากร้านสปาซากุระในกรุงฮานอย กล่าวว่า เมื่อ 1 ปีก่อน เขาได้เปิดสปาปลาขึ้นเป็นที่แรกและแห่งเดียวในประเทศ หลายคนบินมาจากโฮจิมินห์มาที่ฮานอย เพื่อใช้บริการสปาของเขา โดยราคาค่าบริการสปาค่อนข้างสูง อยู่ระหว่าง 15-33 ดอลลาร์ต่อ 6 ครั้ง เป็นราคาที่สูงกว่าการนวดสปาทั่วๆ ไป
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่การให้บริการสปาปลากำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในเวียดนาม แต่ในสหรัฐฯกลับมีการห้ามทำสปาปลา เนื่องจากไม่ปลอดภัย ไม่ถูกสุขลักษณะ และปลาสามารถแพร่เชื้อโรคไปสู่คนได้
นายเหวียน เหวียต เกื่อง (Nguyen Viet Cuong) หัวหน้าผู้ตรวจสอบด้านสาธารณสุขกรุงฮานอย ยืนยันว่า เวียดนามไม่มีกฎระเบียบเกี่ยวกับการให้บริการสปาปลาในตอนนี้
ปลาดอกเตอร์ฟิช เชื่อว่า มีแหล่งกำเนิดจากประเทศตุรกี และมีชื่อเรียกว่า การ์รารูฟา ปลาพันธุ์นี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น หลังจากมีรายงานชิ้นหนึ่งระบุถึงสารบางอย่างในปากของปลาว่าสามารถรักษาโรคผิวหนังได้ อย่างไรก็ตาม ปลาการ์รารูฟาเป็นปลาหายากที่ทางรัฐบาลตุรกีห้ามไม่ให้ทำการค้า
ในประเทศจีน ศูนย์นวดบำบัดได้ใช้ปลาหมอแทนปลาการ์รารูฟา แต่ไม่ได้ระบุว่าให้การรักษาในลักษณะเดียวกันกับที่เวียดนามหรือไม่
ในเวียดนาม เจ้าของสปาพยายามที่จะบอกว่าพวกเขานำเข้าปลามาจากตุรกี ซึ่งทางสื่อต่างชาติได้รายงานว่าการนำเข้าปลาจากตุรกีนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายสูงมากแล้วยังไม่น่าจะเป็นไปได้อีกด้วย
ตามที่ร้านสปาในเวียดนามโฆษณาไว้ การสปาปลาเป็นเรื่องดีต่อสุขภาพ เพราะปลาจะตอดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ทั้งยังช่วยกระตุ้นระบบประสาทและกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ก่อนที่จะทำสปาปลา ลูกค้าจะต้องแช่เท้าในน้ำที่ผสมผงอบเชย แล้วจึงค่อยแช่เท้าลงในอ่างปลาที่มีอุณหภูมิประมาณ 25-35 องศา
ตามที่ร้านสปารายงานไว้นั้น การทำสปาปลาทั้งตัวได้รับความนิยมในกลุ่มลูกค้าผู้ชาย ส่วนผู้หญิงจะนิยมทำสปาปลาเฉพาะที่มือและเท้ามากกว่า
ในขณะที่โฆษณาการทำสปาปลาจะเน้นไปที่การรักษาโรค แพทย์ชาวสหรัฐฯ ดร.เดนนิส อาร์โนลด์ ผู้ก่อตั้งสมาคม International Foot Care กล่าวว่า การรักษาผิวเท้าในลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขาและเขาสงสัยว่ามันได้ผลจริงอย่างที่โฆษณาหรือเปล่า
ทางด้าน ดร.ด่าว บา หวี (Dao Ba Vy) อดีตประธานศูนย์กายภาพบำบัดโรงพยาบาลทหาร 354 แสดงความคิดเห็นว่าเมื่อปลาเข้ามาตอดเท้าทำให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลายแต่ไม่ได้ช่วยรักษาโรคแต่อย่างใดอย่างที่โฆษณา
แม้การทำสปาปลาจะไม่ได้รับการยืนยันว่าลูกค้าจะหายจากโรคผิวหนังจริงตามที่ร้านโฆษณาไว้ แต่การทำสปาในลักษณะนี้ก็ได้รับความนิยมในหมู่ชาวเวียดนาม เพราะความแปลกใหม่และประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับหลังใช้บริการนั่นเอง