พนมเปญโพสต์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เจ้าหน้าที่ใน จ.พระวิหาร ได้จ้างคนงานสร้างบันไดสูง 300 เมตร เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเยี่ยมชมปราสาทพระวิหารได้ง่ายยิ่งขึ้น จากฝั่งกัมพูชา หลังจากไม่สามารถจะขึ้นจากฝั่งไทยได้ในขณะนี้ โดยเชื่อว่าสะพานดังกล่าวจะสร้างความพึงพอในให้แก่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ชอบการผจญภัย
นายโอม พิรม (Om Phirom) สารวัตรตำรวจประจำปราสาทพระวิหาร เปิดเผยว่า การก่อสร้างบันไดที่ติดอยู่กับบันไดหินซึ่งเป็นของโบราณที่ไม่สามารถใช้การได้นั้น ได้เริ่มมาตั้งแต่เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนสิ้นปี 2552 นี้
“เราสร้างบันไดไม้ขนานกับของเก่าเพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินขึ้นไปด้านบนปราสาทพระวิหารได้” สารวัตรตำรวจคนเดิมกล่าว
“นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติชื่นชอบการท่องเที่ยวแนวผจญภัย พวกเขารู้สึกตื่นเต้นที่ได้เดินบนบันไดหินโบราณ”
นายจู๊จ เฟือง (Chuch Phoeung) ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมและศิลปากร กล่าวว่า แนวคิดการสร้างบันไดนี้ มีขึ้นหลังจากองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นแหล่งมรดกโลก ในเดือน ก.ค. 2551 ที่ผ่านมา
ในปัจจุบันนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังปราสาทพระวิหารจากฝั่งกัมพูชา จะใช้ถนนลาดยางที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาทในขณะที่บันไดที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้อยู่ทางด้านตะวันออก
นายศร ทวี (Sor Thavy) รองผู้ว่าการจังหวัดพระวิหารกล่าวว่า ตนเองเชื่อนักท่องเที่ยวจะพึงพอใจกับทิวทัศน์อีกด้านหนึ่งของปราสาทจากทางขึ้นใหม่นี้เช่นกัน
“เมื่อบันไดสร้างเสร็จเรียบร้อย ทางขึ้นด้านนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสเห็นวิวทิวทัศน์ใหม่ๆ และยังช่วยดึงนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาเยี่ยมชมปราสาทมากขึ้นด้วย” นายทวีกล่าว
บันไดที่แกะซอกหินให้เป็นขั้นๆ และ ทำเป็นราวไม้ไว้สำหรับขณะปีนขึ้นไปตามคงวามลาดชันของหน้าผาที่มีความสูงราว 500 เมตรนั้น ใช้งานมาตั้งแต่ศาลระหว่างประเทศในกรุงเฮก ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารบนหน้าผาสูงให้ตกเป็นของฝ่ายกัมพูชา หลังจากรัฐบาลไทยสมัย จอมพลสฤษฏ์ ธนะรัชต์ ไทยได้ปิดทางขึ้น จากฝั่ง อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ
เมื่อกว่า 40 ปีก่อน สมเด็จพระนโรดมสีหนุ เคยใช้บันไดดังกล่าว เป็นทางขึ้นไปยังปราสาทพระวิหาร เพื่อเฉลิมฉลอง หลังจากศาลในกรุงเฮกตัดสินให้ปราสาทเก่าแก่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 11 ตกเป็นของกัมพูชา
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันรัฐบาลสมเด็จฯ ฮุนเซนได้สั่งการให้ทหารช่างฟื้นฟูบูรณะถนนเก่าแกสายหนึ่ง จาก อ.อันลองแวง จ.อุดรมีชัย ไปยัง จ.พระวิหาร โดยบางช่วงไต่ไปตามเนินเขา และล้ำเข้าไปใน “พื้นที่ทับซ้อน” ที่อยู่ในที่พิพาทกับไทย กลายเป็นทางขึ้นที่สะดวกในการไปเที่ยวชมปราสาท
ถนนสายดังกล่าวลาดยางจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ โดยใช้เงินจากมูลนิธิโทรทัศน์บายน ที่ฮุนมะนา (Hun Mana) บุตรีคนโตของสมเด็จฯ ฮุนเซน เป็นประธานกรรมการ สื่อในกัมพูกล่าว.