ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- ไม่เพียงแต่ชื่อของมันจะน่าสะพรึงกลัวเท่านั้น หากยังก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและแรงจัด สามารถทวีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางขึ้นสู่ระดับไต้ฝุ่นได้ภายใน 24 ชั่วโมง สำนักพยากรณ์ต่างๆ ออกคำเตือนตรงกันว่า “ลูปี๊ต” (Lupit) กำลังจะเป็นภัยข่มขู่ลูกใหม่สำหรับประเทศและดินแดนต่างๆ ในย่านทะเลจีนใต้
ลูปี๊ต เป็นคำในภาษาตากาลอก (Tagalog) หรือภาษาท้องถิ่นของชาวฟิลิปปินส์ มีความหมายตรงตามตัวว่า “โหดร้าย” และ “รุนแรง” ก่อตัวขึ้นเห็นได้ชัดเจนในวันที่ 14-15 ต.ค.ทวีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางขึ้นสู่ระดับไต้ฝุ่นในวันที่ 16
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาในกรุงมะนิลา ออกเตือนว่า ลูปี๊ตสามารถพัฒนาขึ้นเป็นไต้ฝุ่นที่มีความรุนแรงในระดับ C5 หรือ Category 5 ซึ่งเป็นความเร็วลมระดับสูงสุดสำหรับพายุในเขตร้อน
ศูนย์เตือนภัยไต้ฝุ่นร่วม (Joint Typhoon Warning Center) ของกองทัพสหรัฐฯ ที่อ่าวเพิร์ล รัฐฮาวาย ได้พยากรณ์ในวันเสาร์ (17 ต.ค.) ไต้ฝุ่นลูกใหม่นี้จะเคลื่อนตัวผ่านปลายสุดของเกาะลูซอน (Luzon) ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่อยู่เหนือสุดในกลางสัปดาห์หน้า และเคลื่อนเข้าทะเลจีนใต้
แผนภูมิที่ใช้ข้อมูลดาวเทียมที่จัดทำโดย JTWC ได้แสดงให้เห็นไต้ฝุ่นลูปี๊ตในเขตทะเลฟิลิปปินส์ ห่างจากแผ่นดินดินเกาะราว 1,000 กม.ในวันอาทิตย์ (18 ต.ค.) นี้ ขณะเคลื่อนตัวและบ่ายหน้าเฉียงไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อยด้วยความเร็ว 26 กม./ชม.
แผนภูมิที่จัดทำโดยศูนย์เตือนความเสี่ยงจากพายุโซนร้อน (Tropical Storm Risk) ในกรุงลอนดอนก็ได้แสดงทิศทางการเคลื่อนตัวคล้ายกัน
สำนักพยากรณ์ทั้งสองแห่ง กล่าวว่า ในวันจันทร์ (19 ต.ค.) ไต้ฝุ่นลูปี๊ตจะเริ่มหันหัวไปทางตะวันตก และเคลื่อนผ่านปลายสุดของเกาะลูซอนในราววันพฤหัสบดี (22 ต.ค.) และเคลื่อนเข้าทะเลจีนใต้ในวันรุ่งขึ้น
ศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์กลางเวียดนาม ได้ออกเตือนเกี่ยวกับโอกาสที่ไต้ฝุ่นลูปี๊ตจะพัดเข้าถึงฝั่งอีกลูกหนึ่งในช่วงสุดสัปดาห์หน้า เพราะว่าโอกาสที่พายุจะเคลื่อนขึ้นเหนือ ผ่านเกาะไต้หวันเข้าสู่แผ่นดินใหญ่จีน เช่น ไต้ฝุ่นมรกต (Morakot) ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มีน้อยลง
ในช่วงปลายเดือน ต.ค.-ต้น พ.ย. มวลอากาศเย็นที่จะเคลื่อนลงจากตอนเหนือ จะกดให้พายุต้องเคลื่อนตัวเป็นแนวระนาบพุ่งเข้าสู่เวียดนาม
สำหรับชาวฟิลิปปินส์ ถึงแม้ไต้ฝุ่นลูปี๊ตจะไม่ได้เคลื่อนผ่าใจกลางของเกาะลูซอน แต่นครมะนิลาก็ไม่ได้รอดพ้นจากอิทธิพลของพายุลูกนี้
ลูปี๊ตกำลังจะทำให้เกิดฝนตกหนักในภาคเหนือ ในบริเวณเดิมที่ไต้ฝุ่นสองลูก คือ “อันดอย” (Andoy) หรือ เกดสะหนา (Ketsana) กับ “ปีเป็ง” (Pepeng) หรือ ป้าหม่า (Parma) พัดเข้าถล่มในช่วงกลางเดือน ก.ย. ถึงต้นเดือน ต.ค.นี้ และ ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมกันราว 600 คน รวมทั้งในเมืองหลวงมะนิลาด้วย
ทางการฟิลิปปินส์ยังคงเยียวยาการทำลายของไต้ฝุ่นทั้งสองลูก ผู้ประสบภัยนับหมื่นคนยังต้องอาศัยอยู่ในแหล่งพักพิงชั่วคราว เนื่องจากบ้านเรือถูกทำลายราบ
ในเวียดนาม ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาพายุป้าหม่าเพิ่งพัดเข้าทำความเสียหายให้แก่บ้านเรือนราษฎรและจมเรือประมงในเขต จ.กว๋างนีง (Quang Ninh) ที่อยู่ติดชายแดนจีนกับในนครหายฟ่อง (Hai Phong) ในเวลาต่อมา
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เวียดนามนิวส์ พายุป้าหม่าได้พัดเข้าสร้างความเสียหายใน อ.เกาะบาหวี (Ba Vy) ร้อยละ 80 ของบ้านเรือนราษฎรในอำเภอเกาะแห่งนี้ถูกทำลายยับเยิน ก่อนจะเคลื่อนขึ้นฝั่งอีกครั้งหนึ่ง อ่อนตัวลงเป็นดีเปรสชั่น และสลายตัวไปขณะเคลื่อนผ่านที่ราบปากแม่น้ำแดงทางตอนใต้ของกรุงฮานอย
เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์เวียดนามยังคงเยียวยารักษาบาดแผลในหลายจังหวัดภาคกลางที่ไต้ฝุ่นเกดสะหนา ซึ่งมีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางระดับ C2 พัดทำลายระหว่างวันที่ 28-29 ก.ย.ที่ผ่านมา
ในวันอาทิตย์นี้ไต้ฝุ่นลูปี๊ตยังคงหมุนคว้างอยู่ในเขตทะเลฟิลิปปินส์ เบนหัวออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อย แต่สำนักพยากรณ์ต่างๆ เชื่อว่า ปลายทางสุดท้ายอาจจะอยู่ที่เวียดนาม