ASTVผู้จัดการออนไลน์-- ทางการกัมพูชาจะยุติการผลักดันปัญหาพิพาทายแดนด้านเขาพระวิหารเข้าเป็นวาระในการประชุมสุดยอดกลุ่มอาเซียนกับหุ้นส่วน 6 ประเทศซึ่งจะจัดขึ้นที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์สัปดาห์หน้านี้ โฆษกของกัมพูชากล่าวว่า การตัดสินใจนี้มีขึ้นหลังจากนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยได้ส่งหนังสือถึง รมว.ต่างประเทศกัมพูชา อธิบายถึงความเข้าใจผิดของบรรดาสื่อ
กัมพูชาจะถอนข้อเสนอดังกล่าวออกไป และ หันมาเจรจราสองฝ่ายกับไทย เพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนต่อไป นายกอยเกือง (Koy Kuong) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ โฆษกของกัมพูากล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (15 ต.ค.) ทั้งนี้เป็นรายงานบนเว็บไซต์วิทยุเสียงอเมริกาหรือวีโอเอ (VOA) ภาคภาษาเขมร
รมว.ต่างประเทศของไทยได้สร้างความกระจ่างชัดเกี่ยวกับรายงานผ่านสื่อต่างๆ ที่ว่า รัฐบาลไทยต้องการให้มีคณะกรรมการที่เป็นกลางขึ้นมาชุดหนึ่งภายในอาเซียน เพื่อทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยและแแก้ปัญหาพิพาทระหว่างประเทศสมาชิก โดยชี้ให้เห็นว่าเป็นการตีความที่ผิดพลาดของสื่อ นายกอยเกืองกล่าว
"แท้จริงแล้วผมได้แจ้งให้สื่อได้ทราบเกี่ยวกับผลความคืบหน้าในการพัฒนากลไกแก้ไขความขัดแย้งภายใต้กฎบัตรของอาเซียน ที่ดำเนินการโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับสูง" วีโอเออ้างถึงข้อความในหนังสือของนายกษิต ซึ่งอธิบายต่อไปอีกว่า แท้จริงแล้วข้อความที่ให้สัมภาษณ์ไปนั้นหมายถึงความตกลงที่สามารถบรรลุได้ระหว่างนายกรัฐมนตรีของสองประเทศ ที่จะแก้ไขกรณีพื้นที่ใกล้กับปราสาทพระวิหารด้วยการเจรจราทวิภาคี
เมื่อได้รับคำอธิบายดังกล่าวแล้ว กัมพูชาจะไม่หยิบยกเรื่องนี้ผลักดันเข้าเป็นวาระพิจารณาในที่ประชุมอาเซียนอีก
หลังจากทราบรายงานของสื่อในประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา นายฮอร์นัมฮอง (Hor Nam Hong) รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาได้ทำบันทึกทางการทูตถึงกระทรวงการต่างประเทศของไทย ขอเสนอให้นำข้อขัดแย้งชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาเข้าเป็นสาระในที่ประชุมผู้นำอาเซียนที่จะกำลังมีขึ้น
ไทยได้ยืนยันมาตลอดที่จะไม่นำปัญหาชายแดน ที่ถือเป็นปัญหาทวิภาคีให้ขยายออกไปเป็นปัญหาของหลายฝ่าย ขณะที่ฝ่ายกัมพูชาพยายามมาตั้งแต่ปีที่แล้วระหว่างการประชุมประจำปีของรัฐมนตรีอาเซียนในสิงคโปร์ ผลักดันกรณีชายแดนเข้าเป็นวาระหนึ่งในการประชุม
กัมพูชาได้พยายามแม้กระทั่งนำเอากรณีขัดแย้งระหว่างสองประเทศ เข้าสู่ที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) ปีที่แล้ว ระหว่างที่เวียดนามทำหน้าที่ประธาน UNSC แต่ไม่สำเร็จ ท่ามกลางการคัดค้านของไทย และในที่สุดได้ยอมถอนวาระออก.