ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - ธรรมชาติแห่งพายุช่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ภาพจำลองจากข้อมูลดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา MTSAT ที่จัดทำโดยสำนักเฝ้าติดตามความเสี่ยงจากพายุในเขตร้อนหรือ TSR (Tropical Storm Risk) ที่เผยพร่ในวันอังคาร (6 ต.ค.) นี้ได้แสดงให้เห็นพายุโซนร้อนป้าหม่า (Parma) กลับหลังหันกลับคืนสู่หมู่เกาะฟิลิปปินส์อีกครั้งหนึ่ง
แต่สำนักนี้ก็ยังเชื่อว่าในอีก 24 ชั่วโมงข้างหน้าพายุป้าหม่า จะหันเหทิศทางมุ่งหน้าเข้าสู่ทะเลจีนใต้ และชายฝั่งเวียดนามครั้งใหม่
นับเป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางอย่างสุดที่จะคาดเดาล่วงหน้า เป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่ “ไต้ฝุ่นป้าหม่า” หันหัวขึ้นเหนือ ไม่พัดเข้าทำลายล้างตอนกลางของเกาะลูซอนสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้กรุงมะนิลาเมืองหลวงฟิลิปปินส์รอดพ้นการสูญเสียรอบสอง หลังจากไต้ฝุ่นเกดสะหนาทิ้งคนตายเอาไว้เกลื่อนอย่างน้อย 289 ศพ
เมื่อวันอาทิตย์ (4 ต.ค.) สำนักอุตุนิยมวิทยาแห่งต่างๆ ทั่วเอเชีย รวมทั้งที่มลรัฐฮาวาย สหรัฐฯ ต่างเชื่อกันว่าไต้ฝุ่นป้าหม่า จะบ่ายหน้าพัดถล่มเกาะไต้หวัน และทะลุทะลวงเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อน
อย่างไรก็ตาม ไต้ฝุ่นป้าหม่า ได้สร้างความแปลกใจให้แก่นักอุตุนิยมวิทยาในเช้าตรู่วันจันทร์ (5 ต.ค.) โดยอ่อนกำลังลงและหันรีหันขวาง ทำท่าจะเปลี่ยนเส้นทางเคลื่อนตัว บ่ายหน้าเข้าทะเลจีนใต้ และชายฝั่งเวียดนาม
ปรากฏการณ์นี้ได้ด้ทำให้รัฐบาลเวียดนามสั่งให้ทางการจังหวัดต่างๆ ตั้งแต่กว๋างนีง (Quang Ninh) ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือลงไปจนถึง จ.เถือะเทียนเหว (Thua Thien Hue) กับ จ.กว๋างนาม (Quang Nam) ในภาคกลางให้เตรียมรับยมมือกับภัยพิบัติอีกครั้งหนึ่ง เพียงไม่ถึง สัปดาห์หลังถูกพายุเกดสะหนา (Ketsana) พัดทำลาย ทำความเสียหายอย่างย่อยยับ
ป้าหม่าได้พลิกความคาดหมายอีกครั้งหนึ่งในวันอังคารนี้ โดนหันหลังกลับเกือบจะ 180 องศา เข้าพัดถล่มทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์ หันรีหันขวางอยู่ที่นั่น และ TSR เชื่อว่ากำลังจะหักเหทิศทางไปทางตะวันตกเฉียงใต้ เข้าสู่ทะเลจีนใต้อีกครั้งหนึ่งในวันพุธ-พฤหัสบดีนี้
นับเป็นเรื่องน่าพิศวงพอๆ กัน พายุโซนร้อนป้าหม่าที่มีความเร็วลมศูนย์กลางน้อยกว่า ไม่ได้รับอิทธิพลใดๆ จากซูเปอร์ไต้ฝุ่นเมอโลร์ (Melor) ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 1,100 กม.ในมหาสมุทรแปซิฟิก
พายุสองลูกนี้ยังคงเคลื่อนไปในทิศทางของตัวเองตลอดหลายวันมานี้
นับเป็นเรื่องน่าพิศวงพอๆ กัน พายุโซนร้อนป้าหม่าที่มีความเร็วลมศูนย์กลางน้อยกว่า ไม่ได้รับอิทธิพลใดๆ จากซูเปอร์ไต้ฝุ่นเมอโลร์ (Melor) ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 1,100 กม.ในมหาสมุทรแปซิฟิก
พายุสองลูกนี้ยังคงเคลื่อนไปในทิศทางของตัวเองตลอดหลายวันมานี้
ในเดือน พ.ค.ปีนี้พายุโซนร้อนจันทน์หอม (Chan Home) ซึ่งตั้งชื่อตามชื่อดอกไม้ป่าในภาษาลาว ก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ ปั่นตัวเองจนกระทั่งความเร็วลมศูนย์กลางเพิ่มขึ้นสูงถึง 117 กม./ชม. เตรียมจะเข้าถล่ม จ.กว๋างหงาย (Quang Nghai) กับ จ.นีงทวน (Ninh Thuan) ในภาคกลางเวียดนาม
จันทน์หอมหันรีหันขวางอยู่เพียง 2 วันก็ได้เปลี่ยนทาง มุ่งสู่ทิศตะวันออก ปั่นความเร็วศูนย์กลางขึ้นเป็นไต้ฝุ่นระดับ C1 และ C2 พัดเข้าถล่มตอนเหนือของเกาะเกาะลูซอน
การเปลี่ยนทางกะทันหันนี้เป็นอิทธิพลโดยตรงจากไต้ฝุ่นกูจิรา (Gujira) ที่ก่อตัวขึ้นทางตะวันออกของเกาะฟิลิปปินส์ในช่วงเดียวกัน และ อยู่ห่างจากตอนกลางของทะเลจีนใต้ออกไปกว่า 2,000 กม
ปรากฏการณ์พายุที่มีความพิสดารพันลึกมากที่สุดอีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในเดือน พ.ย.2550 เมื่อไต้ฝุ่นฮากิบีส์ (Hagibis) เคลื่อนตัวจากมหาสมุทรแปซิฟิกไปจนถึงขอบตะวันตกของทะเลจีนใต้ เตรียมพร้อมเข้าถล่มเวียดนามเต็มกำลัง
แต่หลังจากพัดเกือบจะหยุดนิ่งอยู่ในตำแหน่งเดิมเป็นเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง ห่างจากชายฝั่งเมืองญาจาง (Nha Trang) จ.แค๊งหว่า (Khanh Hoa) ภาคกลางเวียดนามราว 200 กม. ฮากิบีส์ ได้แสดงพฤติกรรมที่น่าแปลกใจ หันหัว 90 องศาขึ้นเหนือในระยะเวลาสั้นๆ และ หักมุมอีกครั้งหนึ่งยังทิศตะวันออก กลับคืนสู่มหาสมุทรแปซิฟิก
เจ้าหน้าที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยา และอุทกศาสตร์กลางเวียดนาม กล่าวว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดไม่บ่อยครั้งนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไต้ฝุ่นลูกหนึ่งเดินทางไปไกลถึงชายฝั่งเวียดนาม ซึ่งเป็นปลายสุดเขตแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ และยังไม่สามารถอธิบายสาเหตุของปรากฏการณ์เช่นนี้ได้.