พนมเปญโพสต์ - ในขณะที่กรุงพนมเปญของกัมพูชากำลังเข้าสู่ยุควัตถุนิยม เด็กวัยรุ่นชาวเขมรที่เติบโตในช่วงเวลานี้ก็ดำเนินชีวิตอยู่ในกระแสทุนนิยมรุ่งเรืองเช่นเดียวกัน โดยความนิยมล่าสุดที่กำลังแพร่กระจายในหมูวั่ยรุ่นในขณะนี้คือการทำฟัน โดยเฉพาะการฝังเพชรเทียมที่ช่วยสร้างรอยยิ้มของพวกเขาให้เปล่งประกายวิบวับเข้าตากำลังเป็นเทรนด์ใหม่ในตอนนี้
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คลินิคทันตกรรมในกรุงพนมเปญกลายเป็นสถานที่ยอดนิยมของบรรดาวัยรุ่นที่แห่กันเดินเข้าออกอย่างขวักไขว่ โดยเฉพาะเด็กสาวที่ต้องการฝังเพชรเทียม ที่เรียกว่า "Skyce" ลงบนฟันของพวกเขา
การฝังเพชรเทียมหรือเพชรแท้ลงไปที่ฟันเพื่อเพิ่มความหรูหราให้กับรอยยิ้ม ได้รับความนิยมในฝั่งยุโรปและอเมริกามาเป็นเวลานานแล้ว และสำหรับเด็กสาวอย่าง ฮิม โสกุนธี (Him Sokunthea) ก็ตกหลุมรักรอยยิ้มที่มีประกายแวววาวนี้เข้าอย่างจังเช่นกัน
"หลังจากที่ฝัง Skyce เข้าไป ฉันรู้สึกมีความสุขมาก มันทำให้ฉันเป็นที่รู้จักและน่าสนใจ" นักศึกษาจากโรงเรียนสอนภาษาอายุ 21 ปี กล่าว
"ฉันทำตามอย่างที่ดาราหนังและเพื่อนๆ ของฉันทำ หลังจากฉันไปหาหมอให้ทำฟันให้ บรรดาญาติคนรู้จักและเพื่อนๆ ก็เข้ามาถามเรื่องนี้กับฉันอย่างสนใจ" โสกุนธี กล่าว
สำหรับราคาของการฝังเพชรเทียมมีค่าบริการอยู่ระหว่าง 15-50 เหรียญสหรัฐ ซึ่งขึ้นอยู่กับทันตแพทย์ ขั้นตอนการทำและขนาดของวัสดุ บางคนเลือกที่จะใช้กาวยึดติดเพชรเทียมนี้เข้ากับฟัน ซึ่งแน่นอนว่าวิธีนี้มีราคาถูกแต่ไม่คงทน และวัสดุยังหลุดออกง่ายอีกด้วย
นายเทพ นาวี (Tep Navy) ผู้อำนวยการใหญ่ของคลินิคทันตกรรม Pachem กล่าวว่า การนำ Skyce ไปติดที่ฟันไม่เป็นอันตรายต่อผู้ทำแต่อย่างใด หลังจากผ่านไปประมาณ 2-3 ปีมันก็จะหลุดออกเอง
สำหรับคนที่สนใจต้องการนำเพชรจริงๆ ไปฝังไว้ที่ฟันก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ขั้นตอนกระบวนการในการทำนั้นต้องใช้ลูกเล่นเล็กน้อย เพราะการติด Skyce เข้ากับฟันนั้นทำได้ง่ายเพราะ Skyce มีพื้นหลังเรียบ แต่หากเป็นเพชรต้องทำการเจาะเนื้อฟันเพื่อสร้างหลุมให้เพชรสามารถยึดติดได้
นายบุน เฮง (Bun Heang) บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์กล่าวว่าทุกขั้นตอนเหล่านี้เสี่ยงต่อการสร้างความเสียหายต่อช่องปากและฟัน
"ปัญหาอาจเกิดขึ้นได้ถ้าหมอฟันไม่ระมัดระวังในขั้นตอนที่พวกเขาเอาเพชรหรือ skyce ออก" นายเฮง กล่าว
จากข้อสังเกตเหล่านี้ทำให้หลายคนไม่แน่ใจว่าความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับฟันนั้นมีค่าพอสำหรับการเพิ่มประกายในรอยยิ้มหรือไม่
"ฉันไม่คิดว่าการที่คนจะดูหล่อหรือดูดีขึ้นมาเป็นเพียงเพราะฟันของเขาฝังเพชร" นางสาวลี รัตนาค (Ly Rathanak) วัย 19 ปี นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยโรยัล กรุงพนมเปญ กล่าว
อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่จะนำมาใช้พิจารณาความงามของแต่ละบุคคล แต่ก็ยังดูเหมือนว่ามีคนอีกไม่น้อยที่คิดว่าความงามนั้นอยู่ที่ฟันเช่นกัน ทำให้การติดเพชรเทียมยังคงได้รับความนิยมอยู่ในกัมพูชา.