xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ได้ “หมอ-หมอฟัน” ป้ายแดงปีนี้ 1,483 คน เตรียมกระจายตามสถานพยาบาลทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.ได้หมอ-หมอฟันป้ายแดงปีนี้ 1,483 คน พร้อมกระจายลงประจำการสถานพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ชี้การได้กำลังคนป้ายแดงทั้ง 2 สายงานนี้ทดแทนส่วนที่ขาดแคลนแนวโน้มลดลง มีแพทย์ร้อยละ 15 ลาออกขณะยังใช้ทุนไม่ครบ รอบ 5 ปีมานี้มีแพทย์ ทันตแพทย์ในสังกัดลาออกจากราชการ 5,000 กว่าคน หนุนนโยบายรักษากำลังคนไว้ในระบบ ให้บุคลากรมีความก้าวหน้าในสายงาน ได้รับค่าตอบแทนสูงขึ้น

วันนี้ (1 เม.ย.) ที่โรงแรมสีดารีสอร์ท นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดอบรมปฐมนิเทศ แพทย์ ทันตแพทย์ ที่สำเร็จการศึกษาประจำปี 2552 และทำสัญญาชดใช้ทุนกับกระทรวงสาธารณสุข ก่อนลงไปปฏิบัติงานในสถานพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ จำนวน 1,483 คน ประกอบด้วยแพทย์ 1,089 คน ทันตแพทย์ 394 คน เพื่อเตรียมความพร้อมให้ข้าราชการใหม่ทั้ง 2 สายงานดังกล่าว ให้มีความรู้และเข้าใจภาระงาน

นายมานิตกล่าวว่า แพทย์ ทันตแพทย์เป็นตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้รับเกียรติให้ดูแลประชาชน เชื่อว่าทุกคน มั่นใจว่าแพทย์ ทันตแพทย์จบใหม่ปีนี้ มีความพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพที่มีเกียรติ ตามที่เรียนมา พร้อมให้บริการดูแลประชาชนด้วยความเสียสละ เพื่อประโยชน์ของประชาชน เติมเต็มบุคลากรในระบบ ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ยังขาดแคลนบุคลากรสาย แพทย์ ทันตแพทย์ อีกจำนวนมาก

“ที่ผ่านมาสถานพยาบาลของรัฐต้องประสบปัญหาการขาดแคลนบุคลากรมาโดยตลอด โดยเฉพาะท้องถิ่นที่ทุรกันดาร สาเหตุจากงานหนัก เงินน้อย โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน 700 แห่งทั่วประเทศ มีแพทย์ 3,363 คน ทันตแพทย์ 1,712 คน ส่วนใหญ่เป็นแพทย์ ทันตแพทย์ที่อยู่ระหว่างทำงานใช้ทุน ซึ่งอยู่เพียงปีเดียวก็ขอย้ายหรือลาออก โดยในแต่ละปีจะมีแพทย์และทันตแพทย์ขอลาออกประมาณ 800-900 คน ในปี 2551 ปีเดียว มีแพทย์และทันตแพทย์ลาออก 910 คน ขณะที่สามารถผลิตแพทย์และทันตแพทย์ทดแทนได้ประมาณปีละ 1,500 คน หักลบแล้วจะได้คนเพิ่มในระบบปีละประมาณ 600 คนเท่านั้น”นายมานิตกล่าว

นายมานิตกล่าวอีกว่า จากสถิติตั้งแต่ปี 2546-2551 มีแพทย์ขอลาออก 4,302 คน ทันตแพทย์ลาออก 1,016 คน ทำให้ปัจจุบันมีแพทย์ในระบบ 10,466 คน หรือมีเพียงร้อยละ 83 จากที่ควรจะมี 12,677 คน ยังขาดอีก 2,211 คน ส่วนทันตแพทย์มี 2,872 คน หรือร้อยละ 43 จากจำนวนที่ควรจะมี 6,639 คน ยังขาดอีก 3,767 คน โดยแพทย์ 1 คน ต้องดูแลประชาชน 4,000-5,000 คน

นายมานิตกล่าวด้วยว่า เพื่อรักษากำลังคนภาครัฐที่มีอยู่ ให้อยู่ในระบบ มีขวัญกำลังใจ ไม่ลาออก ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อแพทย์ทำงานชดใช้ทุนในโรงพยาบาลครบ 3 ปี ประมาณร้อยละ 35 ลาออกจากราชการ อีกร้อยละ 15 ทำงานใช้ทุนไม่ครบ 3 ปีก็ลาออก ในระยะสั้นนั้น จะต้องได้รับการสนับสนุนให้มีความก้าวหน้าในการทำงาน ปรับค่าตอบแทนให้สูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่พิเศษ พื้นที่เสี่ยงภัย รวมทั้งมีโอกาสลาศึกษาต่อหรือฝึกอบรมเพิ่มเติม เพื่อให้ก้าวหน้าตามสายงาน ส่วนระยะยาว จะเร่งประสานขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วางแผนผลิตกำลังคนด้านการแพทย์และสาธารณสุข ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด และเมื่อเรียนจบแล้วให้ทำงานในจังหวัดตนเอง ซึ่งจะเป็นการผลิตที่ตรงกับความต้องการของพื้นที่ และช่วยแก้ปัญหาทั้งด้านการขาดแคลนและการกระจายบุคลากร

กำลังโหลดความคิดเห็น