xs
xsm
sm
md
lg

อียูภาษี 0% ข้าว-น้ำตาลเขมร ไทย-ต่างชาติเฮถ้วนหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<bR><FONT color=#ff0000>ภาพรอยเตอร์ถ่ายวันที่ 21 ธ.ค.2551 ชาวนา จ.ตะแกว (Takeo) กำลังเกี่ยวข้าวฤดูนาปี น้ำท่าอุดมสมบูรณ์กัมพูชาผลิตข้าวได้มากขึ้นทุกปี ขณะที่ต่างชาติกำลังเข้าลงทุนการเกษตร สหภาพยุโรปงดภาษีนำเข้าข้าว น้ำตาลและสินค้าเกษตรทุกชนิดจากกัมพูชาตั้งแต่เดือนนี้ ทั้งชาวนาเกษตรกรและทุนต่างชาติมีความสุขกันถ้วนหน้า </FONT></bR>

ผู้จัดการ260องศารายสัปดาห์-- สำนักงานตัวแทนสหภาพยุโรปในกรุงพนมเปญกล่าวว่า ตั้งแต่เดือน ก.ย.นี้เป็นต้นไป ยุโรปจะนำเข้าข้าวกัมพูชาโดยไม่เก็บภาษี (0%) และ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป สมาชิกอียูทั้ง 27 ประเทศจะนำเข้าน้ำตาลและสินค้าการเกษตรทุกชนิด โดยไม่เก็บภาษาเช่นเดียวกัน เพื่อช่วย กัมพูชาพัฒนาการเกษตร

นายราฟาเอล โดเชา มอเรโน (Rafael Dochao Moreno) อุปทูตสหภาพยุโรป แถลงเรื่องนี้ระบุว่า ทั้งหมดรวมอยู่ในโครงการ "อะไรก็ตามนอกจากอาวุธ" (Everything But Arms) ที่อียูตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือประเทศที่ยากจน ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านของกัมพูชาคือ ไทยกับเวียดนามไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว

ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก และเวียดนามเป็นอันดับ 2 แต่ภาษี 0% จากอียูจะช่วยให้ข้าวของกัมพูชาสามารถแข่งขันได้มากยิ่งขึ้น

การให้สิทธิประโยชน์ของอียูยังมีออกมาในขณะที่ต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสองประเทศตะวันออกกลางคือ คูเวตกับกาตาร์กำลังเข้าเข้าลงทุนผลิตข้าวในกัมพูชา ขณะที่สื่อในประเทศนี้กล่าวว่าที่ผ่านมา รัฐบาลของสมเด็จฯ ฮุนเซน ได้ให้สัมปทานที่นาแก่ทุนต่างชาตินับแสนไร่ ยังไม่นับรวมพื้นที่สวนยางและพืชเศรษฐกิจอื่นๆ

สิทธิประโยชน์ดังกล่าวกำลังจะทำให้บริษัทต่างชาติที่ลงทุนด้านการเกษตรในกัมพูชาได้รับประโยชน์ถ้วนหน้า รวมทั้งกลุ่มทุนใหญ่จากไทย คือ ไทยเบฟเวอเรจ หรือ "กลุ่มเบียร์ช้าง" เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ กลุ่มน้ำตาลมิตรผล ที่มีโครงการโรงงานอาหารสัตว์ ไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาลในประเทศนี้

ในช่วงสองปีมานี้กัมพูชาผลิตข้าวได้มากจนเหลือส่งขายต่างประเทศ แต่ก็ยังมีปริมาณน้อย แม้ว่ารัฐบาลจะตั้งเป้าส่งออกเอาไว้ประมาณ 8 ล้านตันต่อปีในปี 2558 แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างต้องทำก่อนจะได้รับสิทธิประโยชน์จากภาษี 0% ของสหภาพยุโรปอย่างเต็มที่

ตามตัวเลขของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ปี 2551 กัมพูชาส่งออกข้าวเพียงประมาณ 500,000 ตัน ในนั้นเพียง 2,700 ตันที่ไปถึงประเทศยุโรป และ ทำ เงินได้เพียงประมาณ 2 ล้านดอลลาร์

"(มาตรการนี้) จะเป็นประโยชน์ต่อชาวนาและเกษตรกรของเราที่ผลิตส่งออกไปยังอียู" นายจัน สะรุน (Chan Sarun) รัฐมนตรีเกษตรของกัมพูชา ให้ความเห็นกับสื่อ

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น กัมพูชาจะต้องทำอีกมาก ชาวนาจะต้องปรับปรุงพันธุ์ข้าว สมาคมโรงสีต้องพัฒนาคุณภาพการสีข้าวด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย สร้างมาตรฐานสำหรับข้าวส่งออกเพื่อแข่งขันด้านคุณภาพกับผลผลิตจากประเทศเพื่อนบ้าน และ เพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้า นายสะรุนกล่าว

"ผมเชื่อว่ามาตรการนี้จะทำให้กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังยุโรปมากยิ่งขึ้น แต่ก็คงไม่มากนัก เพราะเรายังขาดโรงสีที่มีคุณภาพดี" รมว.เกษตรกัมพูชากล่าว

อย่างไรก็ตามผู้ค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเวียดนามและชาวไทย รวมทั้งที่ไปไกลจากมาเลเซียและสิงคโปร์ต่างมองเรื่องนี้ในแง่ที่เป็นบวก เนื่องจากภาษี 0% ของอียูจะทำให้ข้าวจากกัมพูชามีราคาต่ำกว่าข้าวไทยและข้าวเวียดนาม ชดเชยกับทุนในการขนส่งที่ยังสูงมาก

นายพูปุย (Phou Puy) ประธานสหพันธ์โรงสีกัมพูชา ซึ่งมีสมาชิกเป็นเจ้าของโรงสีทั่วประเทศกล่าวว่า ปัญหาต่างๆ กำลังได้รับการแก้ไข เนื่องจากมีการลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ๆ ที่สีข้าวได้คุณภาพมาตรฐานโลกจำนวนหลายหน่วย และอยู่ระหว่างการติดตั้ง จะเริ่มสีข้าวเพื่อส่งออกได้ในสิ้นปีนี้

ปีนี้รัฐบาลกัมพูชาได้ออกทุนให้สมาคมโรงสีเป็นเงิน 18 ล้านดอลลาร์ เพื่อเสริมสภาพคล่องในการออกกว้านซื้อข้าวจากชาวนา เป็นการลดบทบาทของผู้ค้าชาวต่างชาติ ซึ่งเรื่องนี้รวมอยู่ในแผนการที่จะพัฒนาให้กัมพูชาส่งออกข้าวด้วยตัวเองได้ในปี 2553 นี้

นายสุ่นกุนธร (Sun Khunthor) ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งรัฐ (State Development Bank) กล่าวว่า รัฐบาลจะปล่อยกู้ให้สมาคมโรงสีปีละ 18 ล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2552-2553 นี้ ซึ่งเงินทุนก้อนนี้มากพอสำหรับกว้านซื้อข้าวเปลือกราว 90,000 ตัน

กัมพูชามีประชากร 14 ล้านคนในนั้น 85% ประกอบอาชีพการเกษตร ทั่วประเทศมีพื้นที่เพาะปลูกราว 3 ล้านเฮกตาร์ (กว่า 18 ล้านไร่) แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์

ตามตัวเลขของกรมการค้าต่างประเทศ ในปี 2552 ไทยเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับ 7 ในกัมพูชาหล่นลงถึง 3 อันดับจากปีที่แล้ว ปัจจุบันมีโครงการลงทุนรวม 81 โครงการ ด้วยเงินทุนรวม 7,703.2 ล้านดอลลาร์

แต่หากไม่นับการลงทุนทำสวนยางแล้วนักลงทุนไทยเป็นผู้ลงทุนผลิตการเกษตรกับอุตสาหกรรมการเกษตรรายใหญ่ที่สุดในกัมพูชาซึ่งรวมทั้งใน อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น